ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล การควบคุมเด็กวัยรุ่นไม่เพียงแค่เข้าใจ แต่ต้อง “ใจถึง” ชีวิตในชั้นมัธยมเหมือนการค้นหาอนาคต ด้วยความรู้สึกของตัวผมเองที่เคยรู้สึกว่า ตอนที่เรียนชั้นประถมชีวิตคล้ายถูกบังคับ คือบังคับด้วยความต้องการของผู้ใหญ่ ตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครองไปจนถึงครูที่โรงเรียน ซึ่งตัวเราเองก็ต้องบังคับตัวเองให้อยู่ในกรอบของความต้องการของคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นเด็กดี การตั้งใจเรียน และการแข่งขันให้ได้คะแนนและลำดับผลการสอบดีๆ แต่พอมาเรียนชั้นมัธยมความรู้สึกนั้นก็เปลี่ยนไป มีความรู้สึกว่าตัวเองถูกครอบงำด้วย “วิญญาณกบฏ” ที่มาตะโกนบอกให้แหกคอกออกไปจากโซ่ล่ามที่ถูกพันธนาการมาตั้งแต่เด็กๆ กบฏตัวแรกพูดขึ้นว่า “เอ็งโตแล้วนะ” แปลว่าอย่าทำตัวเป็นเด็กอีกต่อไป สามารถที่จะทำอะไรด้วยตัวเองได้เหมือนกับผู้ใหญ่ทุกคน กบฏตัวต่อมาสำทับว่า “เอ็งคือสุดยอด” หมายถึงเราก็ได้เรียนรู้มาบ้างแล้ว คงเอาตัวรอดและต่อสู้กับโลกนี้ด้วยตัวเองต่อไปได้ ส่วนกบฏอีกตัวหนึ่งก็ตะโกนบอกให้ “สู้ๆ โว้ย” ก็คืออยากให้มีความกล้าหาญ กล้าคิดกล้าทำ โลกนี้มีอันตรายมากมายก็จริง แต่ก็คงไม่ยากที่จะเอาชนะ แล้วกบฏตัวสุดท้ายก็ปลอบใจว่า “ไม่ลองไม่รู้” แม้ชีวิตจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมาก แต่ก็ควรมุ่งมั่นฟันฝ่าพยายามไป เพราะชีวิตนั้นคือการเรียนรู้ ครูบุษบาดูเหมือนจะเข้าใจในวิญญาณกบฏของพวกผมทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นด้วยวัยที่แตกต่างกันเพียง 10 ปี ครูเรียกพวกผมว่าน้องๆ แทนคำว่าเด็กๆ และเรียกชื่อเล่นทุกคนเท่าที่จะจำได้ นั่นก็แสดงว่าคน คนนั้นมีความสนิทสนมกับครูพอควร แต่ถ้าใครที่ครูเรียกด้วยชื่อจริง ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะไม่สนิทสนมคุ้นเคยแล้ว ก็คือการประชดเหน็บแนม ซึ่งแสดงว่าครูไม่พอใจในการกระทำบางอย่างของลูกศิษย์คนนั้น ผมมีชื่อเล่นตั้งแต่เด็กๆ ว่า “อี๊ด” แม่บอกว่าตอนนั้นชื่อแบบนี้กำลังเป็นที่นิยม (ดาราชื่อดังในยุคนั้นอย่างเพชรา เชาวราษฎร์ ก็ชื่อเล่นนี้) แต่พอมาเรียนโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เพื่อนก็ล้อเลียนว่าเป็นชื่อผู้หญิง ผมพยายามเปลี่ยนชื่อเล่นอยู่นาน จนขึ้นเรียนชั้น ม.ศ. 2 ผมได้เล่นฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตู ตอนนั้นมีผู้รักษาประตูทีมสโมสรทหารอากาศกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ชื่อทวีศักดิ์ ก๋อยสุวรรณ (สมัยก่อนผมชื่อทวีศักดิ์ แต่มาตัดคำว่าศักดิ์ออกหลังแต่งงาน เพราะหมอดูทักว่าอักษรตัว ศ นั้นเป็นกาลกิณี) ผมเลยได้ชื่อเล่นใหม่จากเพื่อนๆ ว่า “ไอ้ก๋อย” (ภายหลังผมมาเปิดพจนานุกรมพบคำแปลว่า “น. นกบินสูงชนิดหนึ่ง อีก๋อยก็เรียก” และชื่อนี้ติดตัวผมมาจนเข้ามหาวิทยาลัย แต่มาถูกท่าน ม.ร.ว.ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งให้ใหม่ตอนที่ได้ทำงานกับท่านที่บ้านซอยสวนพลู ในชื่อว่า “ก๊วยเจ๋ง” ซึ่งท่านบอกว่า “ดูเป็นแมนมากกว่า”) ซึ่งชื่อนี้ครูบุษบาบอกว่าดูใกล้ชิดมากเพราะเป็นชื่อของน้องชายที่ชื่ออ๋อย มันเลยทำให้ผมมีความสนิทสนมกับครูบุษบาเป็นพิเศษ และคุณครูดูเหมือนจะไว้ใจผมมาก ให้ผมช่วยเป็นหูเป็นตาให้ในหลายๆ เรื่อง ยุคนั้นวัยรุ่นมีแฟชั่นอย่างหนึ่งคือยกพวกตีกัน แต่ที่ดูโหดเหี้ยมน่ากลัวมากก็คือ นอกจากจะตีกันด้วยไม้ที(ไม้เขียนแบบรูปตัวอักษร T ขนาดยาวสัก 1 เมตร) ฟุตเหล็ก และสนับมือ อย่างที่เคยเห็นและรู้ๆ กันอยู่แล้ว นักเรียนบางคนยังมีระเบิดขวดและปืนอีกด้วย คู่อริร่วมฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมที่โด่งดังมากในยุคนั้นก็คือโรงเรียนวัดราชาธิวาส โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ นักเรียนของทั้งสามโรงเรียนผลัดกันรุกรบสลับกันทุกสัปดาห์ แต่นักเรียนของโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ดูเหมือนจะบอบช้ำมากที่สุด เนื่องจากอยู่ระหว่างอีกสองโรงเรียน เหมือนอยู่ท่ามกลาง “เขาควาย” ยังไงยังงั้น วันดีคืนดีก็มีเสียงปืนดังออกมาจากรถเมล์ที่วิ่งผ่านหน้าโรงเรียน ในขณะที่พวกเรา(นักเรียนวัดมกุฏกษัตริย์)กำลังซ้อมกีฬาหรือเล่นกันอยู่ในสนาม จนต้องวิ่งหนีกันลนลาน บางครั้งก็มีคนบาดเจ็บ แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือระเบิดขวด ที่แต่แรกก็เป็นแค่ระเบิดพลาสติก มีแค่เสียงดังและแรงกระแทก แต่บางลูกก็จะใส่ตะปูหรือเศษเหล็กเข้าไปด้วย ทำให้บาดเจ็บสาหัสได้เลย ต่อมาก็เอาทั้งหมดนั้นไปบรรจุในขวดยาบำรุงกำลัง นอกจากเสียงจะดังเกรียวกราวยิ่งกว่าแล้ว ยังเพิ่มความเสียหายได้มากยิ่งกว่า โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากเศษแก้วที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังนับชิ้นไม่ถ้วน ซึ่งถ้าหากเกิดเป็นพิษติดเชื้อเข้าในเลือดก็อาจจะถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกัน ผมได้ยินมาว่าแหล่งผลิตระเบิดขวดของพวกเราอยู่ใต้กุฏิหลังหนึ่งในบริเวณวัด ผมกำลังคิดว่าคงจะต้องไปบอกเรื่องนี้กับครูบุษบา แต่จู่ๆ ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเสียก่อน คือมือทำระเบิดรัดพลาสติกที่มีดินระเบิดอยู่ข้างในแน่นเกินไป แรงระเบิดทำให้นิ้วขาดไปสองนิ้วกับแก้วหูข้างหนึ่งฉีกขาดจากพลังเสียงของระเบิดนั้น โชคดีที่เป็นแค่ระเบิดพลาสติก ไม่เช่นนั้นก็คงจะบาดเจ็บมากกว่านี้หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นก็ทราบว่าทางวัดได้ทำการ “กวาดล้าง” ให้เด็กวัดที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ทำทัณฑ์บนไว้หลายคน ว่าจะไม่ก่อความเลวร้ายแบบนี้อีก เพราะถ้าหากว่าจะส่งตัวให้ตำรวจเด็กเหล่านี้ก็จะเสียอนาคต รวมถึงพ่อแม่ก็จะต้องเสียใจมาก จากนั้นสถานการณ์ดูจะดีขึ้นอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะมีการตีกัน ยิงกัน และขว้างระเบิดใส่กัน อยู่ทุกๆ เทอมเหมือนเดิม (ตอนที่ผมจบชั้น ม.ศ. 5 ใน พ.ศ. 2518 ก็ยังมีเหตุการณ์การตีกันอยู่ประปราย แต่อีกไม่กี่ปีก็ซาๆ ไป จนเมื่อมีการเปิดเรียนแบบสหศึกษาก็ไม่มีการตีกันอีก โดยนักการศึกษาบางท่านบอกว่า วัยรุ่นชายได้แสดง “ความกล้า ความเก่ง” ให้กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันดูอยู่ทุกวัน โดยไม่ต้องไปแข่งขันโอ้อวดกับโรงเรียนอื่นๆ ก็เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง) ครูบุษบาแม้จะเป็นครูผู้หญิง แต่เรื่องระเบียบวินัยและการลงโทษก็เข้มแข็งจริงจัง จนพวกเราเรียกว่า “ดอกไม้เหล็ก” อย่างในกรณีที่มีนักเรียนในชั้นของคุณครูไปตีกันกับนักเรียนโรงเรียนอื่น คุณครูจะไม่ตำหนิหรือตักเตือนด้วยคำพูด แต่จะทำการ “ลงทัณฑ์ทางสังคม” โดยห้ามนักเรียนคนอื่นพูดคุยกับนักเรียนคนนั้นเป็นเวลา 3 วัน และหากทำผิดอีกเป็นครั้งที่ ๒ ก็จะแยกออกไปจากห้องไม่ให้มาเรียนรวมกันกับคนอื่นๆ ซึ่งส่วนมากนักเรียนคนนั้นๆ ก็จะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเพียงแค่ในความผิดครั้งแรกเท่านั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะวัยรุ่นจะรู้สึกว่า “ใครเกลียดก็ไม่เท่าเพื่อนเกลียด”