ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์เรามักต้องเผชิญหน้ากับหลุมบ่อในชีวิตเสมอ บ้างเป็นชะตากรรมที่ขุดบ่อล่อจิตวิญญาณเอาไว้อย่างยากจะเลี่ยงพ้น และบ้างก็เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านนัยของความเป็นตัวตนที่คาดไม่ถึง...ด้วยวิถีที่ยากจะปกป้องคุ้มครองตัวเอง...ต่อเมื่อยิ่งต้องเผชิญกับเล่ห์กลจากคนอื่น ยิ่งคือความอัปยศที่ยากจะให้อภัย...หลายๆครั้งเราถึงกับรู้สึกว่าชีวิตเป็นเครื่องเล่นของอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่อาจมองเห็นเสียด้วยซ้ำ...มันจึงค่อยๆรวมเป็นบทบาทอันซับซ้อนของนาฏกรรมที่ยากต่อการคลี่คลาย และ หาผลสรุปสู่ความเป็นจริงได้...นั่นจึงถือเป็นความหมายสำคัญในนามแห่งหลุมบ่อของชีวิตที่เราต่างพลัดตกลงไป สู่ใจกลางแห่งปริศนาที่มืดมนดั่งการถูกกลั่นแกล้งนั้น...โดยไม่อาจเลี่ยงพ้นทั้งด้วยภาวะที่ทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม...” ข้อตระหนักอันชวนขบคิดเบื้องต้น คือแก่นสำนึกที่ได้รับจากการอ่านวรรณกรรมเยาวชน..ที่ชนะเลิศรางวัล National Book Award For Young People เมื่อปี ค.ศ.1998 และ ได้รับเหรียญ Newbery Model ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผลงานวรรณกรรมที่เขียนขึ้นเพื่อเยาวชนซึ่งโดดเด่นอย่างมากในปี ค.ศ.1999 รวมทั้งเป็นหนังสือขายดีของ...นิวยอร์กไทมส์.. “หลุม”(Holes)...งานเขียนของ หลุยส์ ชัคเกอร์(Louis Sachar)...ผู้เขียนเรื่องแห่งการเปิดเปลือยเนื้อแท้ของชีวิตที่โด่งดังมาก่อนหน้านั้น..บรัดเลย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน(There “S B0y In Girl” S Bathroom)…. ที่ผูกเรื่องราวผ่านชีวิตของ สแตนลีย์ เยลแนตส์ ...เด็กชายผู้ได้รับมรดกตกทอดอันเป็นดั่งโชคร้ายจากครอบครัว...เขาถูกส่งตัวมาที่ค่ายกักกัน “กรีนเลก”...ค่ายกักกันเด็กที่กระทำความผิด และที่นั่น เด็กๆทุกคนจะได้รับคำสั่งให้ต้องขุดหลุมทุกๆวัน วันละหลุม....เพื่อ?.. เพื่อ?...................และ เพื่อ?.............. การขุดหลุมดำเนินไปท่ามกลางสภาพแห่งทะเลสาบอันร้อนระอุและแห้งแล้ง....โดยมีข้ออ้างเชิงเหตุผลว่าเพื่อ ปรับปรุงพฤติกรรม...ซึ่งนั่นกลับเป็นปริศนาคำถามที่ว่าการบังคับเด็กให้กระทำในสิ่งที่หน่วงหนักเกินวัยอย่างซ้ำๆกันทุกวันเช่นนี้..จะช่วยปรับปรุงอุปนิสัยของเด็กๆให้ดีขึ้นจริงหรือ? “ตอนกินอาหารเช้า..สแตนลีย์แทบจะไม่มีแรงยกช้อน เมื่อเขาออกไปที่ทะเลสาบ ช้อนในมือถูกแทนที่ด้วยพลั่ว..เขาเห็นรอยแตกบนดิน และเริ่มต้นขุดหลุมที่สองของเขา...ขณะที่ขุด เขาพยายามโกยดินไปถมให้ไกลจากปากหลุม เขาต้องการสงวนพื้นที่รอบๆหลุมไว้ เมื่อหลุมถูกขุดลึกลงไปเรื่อยๆ...เขาไม่นึกเลยว่าจะเจอสภาพหนักขนาดนี้...หลุมสองยากที่สุด มันต้องอาศัยปาฏิหาริย์ช่วย...ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ไม่เยี่ยมหน้า เขาก็ใช้หมวกแก๊ปมาพันรอบด้ามพลั่วเพื่อช่วยกันมือเจ็บไปพลางก่อน...พอดวงอาทิตย์ขึ้นถึงค่อยสวมหมวก ต้นคอและหน้าผากของเขาโดนแดดเผาจนเกรียมตั้งแต่เมื่อวาน...สแตนลีย์ค่อยขุดไปทีละครั้ง และพยายามไม่คิดถึงงานอันหนักหนาที่รออยู่ หลังจากผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ดูเหมือนกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าของเขาจะคลายปวดลงไปนิด เขาทำเสียงฮึดฮัด เมื่อพยายามปลักพลั่วลงไปในดิน หมวกแก๊ป เลื่อนไหลจากนิ้ว และพลั่วก็หลุดมือ” ฉากบรรยายตรงส่วนนี้คือภาพแสดง แห่งปมปริศนาของเรื่อง...พวกเด็กๆต้องขุดหลุมฝ่าความยากลำบากและทุกข์ทรมานจากความร้อนร้ายไปเพื่ออะไร...?...นั่นคือปมปริศนาของความใคร่รู้ที่ผู้เขียนได้ออกแบบและผูกมัดผู้อ่านเอาไว้ด้วยมิติที่ทั้งคลุมเครือและเคลือบแคลง ที่ส่งผลต่อรสสัมผัสอันขื่นขมและทุกข์ยาก...หากแต่ตัวละครแห่งชะตากรรมหาได้ยอมแพ้และยอมจำนนต่อเวิ้งคำถามที่โอบล้อมไปด้วยความทุกข์ยากแห่งการถูกลงโทษที่ ตอกย้ำและทิ่มแทงตนเองอย่างบ้าคลั่งและเป็นข้อสงสัยแต่อย่างใดไม่...การเฝ้าสังเกตสถานการณ์ และทุ่มเทต่อการขบเน้นในการแสวงหาคำตอบจากนัยแสดงแห่งบาปเคราะห์ของตนเองอย่างไม่ยอมแพ้...ทำให้สแตนลีย์ได้ค่อยๆค้นพบข้อประจักษ์ในบางสิ่ง...ที่เชื่อมโยงคำถามแห่งปริศนาให้บรรลุถึงคำตอบที่เหนือคาดคิด...จากสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ ณ วันนี้... “ดวงอาทิตย์ยังไม่โผล่ออกมา...แต่ก็มีแสงจับขอบฟ้าจนสว่างไปทั่ว เขาก้มลงหยิบหมวก มองเห็นว่าข้างๆนั้นมีหินแบนๆก้อนหนึ่ง เขาสวมหมวกและก้มลงมองหินก้อนนั้น เขาหยิบขึ้นมา และคิดว่า มันมีรูปร่างเหมือนปลาที่กลายเป็นฟอสซิล เขาปัดฝุ่นออก โครงร่างของปลาดูชัดขึ้น ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นเหนือฟ้าแล้ว ทำให้เขาเห็นเส้นบางๆ ที่เคยเป็นก้างปลามาก่อน...สแตนลีย์มองไปยังผืนดินแห้งแล้งรายรอบ จริงอยู่ที่ทุกคนเรียกพื้นที่นี้ว่า..”ทะเลสาบ” แต่มันยากที่จะเชื่อว่าแผ่นดินแห้งแล้ง และว่างเปล่านี้ครั้งหนึ่งเคยมีน้ำเต็มเปี่ยม..แล้วเขาก็นึกได้ที่คุณท่านและคุณแพนดานสคี เคยบอกเอาไว้ว่า...หากขุดเจออะไรที่ดูน่าสนใจ เขาต้องรีบรายงานให้คนใดคนหนึ่งให้รับทราบ และหากผู้คุมชอบสิ่งนั้น เขาก็จะได้พักผ่อนตลอดทั้งวัน...สแตนลีย์ มองกลับมายังปลาของเขา เขาพบปาฏิหาริย์เข้าแล้ว! ปาฏิหาริย์แห่งอัศจรรย์ที่เป็นจริงนี้...ทำให้สแตนลีย์บังเกิดแรงขับแห่งการคิดวิเคราะห์ขึ้นในใจว่า...แท้จริง..การถูกส่งมายังสถานพินิจเด็กและเยาวชนที่ค่ายกรีนเลก และถูกบังคับลงโทษให้ต้องขุดหลุมกว้าง 5ฟุต ลึก5ฟุต ในทุกๆวัน..วันละหลุมเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมนั้น...หาใช่เจตจำนงอันแท้จริงของบทลงโทษแต่อย่างใดไม่...เพราะแท้จริงแล้ว...พวกเขาเหล่าบรรดานักโทษรุ่นเยาว์ทั้งหลายต่างกำลังถูกหลอกใช้ ให้ต้องกระทำอะไรบางอย่างต่างหาก...เหตุนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบแห่งความเป็นจริง...สแตนลีย์จึงจำต้องขุด ขุด และ ขุด เพื่อให้ได้รับรู้คำตอบอันแท้จริงว่า...บรรดาเหล่าผู้คุมเหล่านั้นปรารถนาอะไรกันแน่...ภายใต้หลุมนั้นๆ “เมื่อนายต้องใช้ชีวิตอยู่ในหลุม...ทางเดียวที่นายจะไปต่อได้คือปีนกลับขึ้นมา” นั่นคือวิถีสำนึกแห่งอุทาหรณ์ที่สแตนลีย์ จำเป็นต้องสำนึกที่จะต้องกระทำมันให้สำเร็จให้ได้...ผ่านนัยความหมายที่ต้องค้นหาและตีความ..ซึ่งทั้งหมดนั้นคือโครงสร้างอันชวนใส่ใจแห่งบทบาทสำนึกของหนังสือเล่ม นี้..หนังสือที่สื่อแสดงถึง...ภาวะแห่งการเผชิญหน้ากับการต่อสู้กับปัญหา ที่บังเกิดขึ้นทั้งต่อภาวะแห่งความเป็นตัวตนของผู้อื่น...และเงื่อนงำอันบาดเจ็บที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง ผ่านวิสัยอันอ่อนแอในบทเริ่มต้นแห่งชีวิตของสแตนลีย์...การเผชิญหน้ากับปัญหาของเขาในเบื้องแรก ปรากฏออกมาในรูปรอยที่ชวนสงสาร...มันคือโครงสร้างแห่งชีวิตโดยรวมของมนุษย์แห่งยุคสมัย ที่ขาดประสบการณ์แห่งการเผชิญหน้ากับวิกฤตของชีวิต..แต่ด้วยการซัดส่ายและโหมกระหน่ำเข้าโจมตีจากห่ากระแสของโชคชะตาและบทเรียนแห่งนัยชีวิตของตัวตน พวกเขาจึงค่อยๆเกิดผัสสะต่อการเอาตัวรอดขึ้นมาเองอย่างเข้าใจและค่อยเป็นค่อยไป ...เมื่อสแตนลีย์ได้ค้นพบและตระหนักว่า... “หลุมแรกที่เขาต้องขุด” คือประสบการณ์ที่แสนจะยากเย็น...มันยากที่สุดต่อการสัมผัสรู้....แต่กับห้วงเวลาหลังจากนั้น..เขากลับค่อยๆทิ้งห่างจากความอ่อนแอ และคำปรามาสจากการขุดหลุมแรก...และจากการถูกใส่ความกล่าวโทษว่าเขาขโมยรองเท้าทั้งๆที่เขายืนยันว่าเขาไม่ได้ทำ...การจำนนต่ออำนาจโดยไม่อาจคัดง้างเพื่อป้องกันตนเอง...ทำให้เขาต้องจมปลักอยู่กับความอ่อนแอจนไร้ค่า...กระทั่ง..เมื่อผู้คุมค่าย ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีจิตใจไม่ดีงาม...เธอแฝงฝังไว้ด้วยปรารถนาแห่งความโลภอันลึกเร้น ...เธอมุ่งหวังที่จะได้สมบัติอันล้ำค่าใต้แผ่นดิน มากกว่าจะคิดเกื้อกูลและดัดนิสัยเด็กๆตามหน้าที่...นั่นคือความมืดดำแห่งแรงขับของความโลภโมโทสัน ที่ก่อให้เกิดแง่คิดต่อการตัดสินใจที่จะมีและเป็นของมนุษย์อันเป็นที่สุด กอปรกับความเติบใหญ่จากประสบการณ์ของสแตนลีย์กับเพื่อนรักนาม ซีโร่..ที่ต้องถูกชะตากรรมพัดพาให้ต้องไปติดตันอยู่กับการใช้ชีวิตกลางทะเลทราย...จนพวกเขาได้สัมผัสถึงเกณฑ์ปฏิบัติแห่งการเอาชีวิตรอดด้วยหัวใจตนเอง...ทั้งหมดนั้นคือ...ภาพฝันที่กลับกลายเป็นความสมจริงในชีวิตจริง...ขึ้นมาในที่สุด.. “ดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงหัว....สแตนลีย์คิดว่าเขาคงไม่สามารถเดินต่อไปได้นานกว่าครึ่งชั่วโมง หรืออาจจะสองชั่วโมงก่อนที่เขาจะหันหลังกลับ...มันดูไร้จุดหมายปลายทาง...เขาเห็นว่าข้างหน้านั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากความว่างเปล่า เขาทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว และ มากที่สุดคือกระหายน้ำ บางทีเขาควรจะหันหลังกลับเสียตอนนี้ หรือบางทีเขาอาจมาถึงครึ่งทาง แล้วโดยที่เขาไม่รู้...จากนั้นสแตนลีย์เหลียวดูรอบๆ เขาเห็นแอ่งน้ำจากจุดที่ยืนอยู่ไม่ถึงร้อยหลา..เขาหลับตาลงและลืมตาขึ้นใหม่.. เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้คิดไปเอง แอ่งน้ำยังคงอยู่ตรงนั้น ...เขาวิ่งตรงรี่เข้าไป แอ่งน้ำเคลื่อนห่างไปอย่างรวดเร็ว มันเคลื่อนที่เมื่อเขาเดิน และหยุดอยู่กับที่เมื่อเขาหยุดเดิน ..ไม่มีน้ำหรอก มันเป็นแค่ภาพสะท้อนจากเปลวแดด และไอระอุของผืนดินที่แห้งผาก...สแตนลีย์ไม่รู้ว่าตัวเองเดินมาไกลแค่ไหนแล้ว...เขามุ่งหน้าต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ทั้งที่รู้ว่า เขาควรหันหลังกลับ ก่อนไปถึงจุดนั้น แต่ทุกครั้งที่มองภูเขา มันเหมือนกระตุ้นเร้าเขาด้วยการชูหัวแม่มือให้.” เทคนิคของการกระตุ้นเร้าผ่านความจริง..ในผัสสะแห่งมายาคติถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง ในศิลปะแห่งการประพันธ์ของ หลุยส์ ชัคเกอร์...มันก่อให้เกิดการเดินทางเพื่อค้นหาหลุมพรางทางการประพันธ์ ควบคู่ไปกับอำนาจแห่งปริศนาในหลุมบ่อแห่งประพันธกรรม...แท้จริงแล้วนัยแห่งโลกมีอะไรให้ได้ค้นหาข้อมูลของ ความหมายมากมาย...มันอยู่เหนือชะตากรรมในบางครั้ง และอยู่ใต้ภาพลวงตาแห่งชะตากรรมในบางครา...ประหนึ่งการขุดหลุมรายวัน ลงไปในชีวิตของโลกในแต่ละหลุมก็ไม่อาจหยั่งเห็นและรู้ได้ว่าในหลุมนั้น ซ่อนความหมายอะไรที่แท้จริง ในความเป็นชีวิตไว้บ้าง ... เฉกเช่นหลุมแห่งชีวิต...ที่ตัวละครได้สร้างขึ้นมาในวรรณกรรมเล่มนี้...จากความเรียบง่ายไร้สำนึก...ข้ามผ่านปริศนาอาการ จนบรรลุถึงคำตอบอันเป็นเหมือนดั่งสัจธรรมที่เคลื่อนขยายไปสู่จุดสุดท้ายของข้อสรุปได้อย่างอิ่มเอมและน่าเวทนาระคนกัน... “แต่ก่อนเราเคยได้อะไรก็ตามที่เราอยากได้เสมอ...ตอนที่เราเล็กๆเราไม่เคยรู้ว่านั่นคือการลักขโมย เราจึงจำไม่ได้ว่ามารู้ความจริงตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่แม่กับเราหยิบเฉพาะของที่พวกเราต้องใช้จริงๆ ไม่เคยฉวยมากกว่านั้น พอเห็นรองเท้าวางโชว์อยู่ที่บ้านพักคนจรจัด เราก็แค่ยื่นมือเข้าไปในตู้กระจกแล้วหยิบออกมา..เราคิดแค่ว่าขโมยรองเท้าเก่าดีกว่าขโมยรองเท้าคู่ใหม่.. เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นของคนดัง มันอาจจะมีป้ายบอกอยู่ แต่เราอ่านหนังสือไม่ออก ตลกดีเหมือนกัน ผู้คนที่นั่นคลุ้มคลั่งไปหมด ทั้งที่เราสวมรองเท้าคู่นั้นอยู่ ทุกคนวิ่งถามหากันวุ่นว่าเกิดอะไรขึ้นกับรองเท้าคู่นั้น.. “รองเท้าหายไปแล้ว”...เราก็แค่เดินออกประตูไป โดยไม่มีใครสังเกต พอเราออกไปข้างนอก เราก็รีบวิ่งไปที่มุมตึก และถอดรองเท้าออกทันที เราถอดวางไว้บนหลังคารถคันหนึ่งที่จอดอยู่ ยังจำได้เลยว่ารองเท้าคู่นั้น..กลิ่นเหม็นมาก” ผมถือเอาถ้อยคำแห่งบทตอนอันเป็นดั่งคำสารภาพอันจริงจังและสัตย์ซื่อนี้เป็นข้อสรุปของ “หลุม” ในภาพเงาแห่งความเป็นวรรณกรรม...หลุมแต่ละหลุมที่เราพบเจอ..หลุมแต่ละหลุมที่เราลงมือขุดขึ้นมา อาจมีที่มาที่ไปอันแตกต่างของเจตจำนง แต่มันคล้ายเหมือนกันตรงความหมายแห่งความไม่รู้...ที่ซ่อนอยู่ในเนื้อใน..มนุษย์เราล้วนต่างมีร่องรอยของการอำพรางติดอยู่กับตัวอยู่อย่างนั้น...มันคือสิ่งที่อาจโบยตีเราอย่างโหดร้ายด้วยปริศนาของความไม่รู้...หรือด้วยความไร้เดียงสาอันสามัญที่เราต่างขบไม่แตก..และได้แต่หวังกันว่าชีวิตจะไม่เกิดหลุมบ่ออันซับซ้อนภายในใจ...หรือไม่เช่นนั้นก็หวังไกลถึงว่า..ชีวิตจะไม่พลัดตกลงไปในหลุมบ่อแห่งชะตากรรมที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อล่อแก่โศกนาฏกรรมของความเป็นจริงนั้นๆ ปัญหาในทุกองคาพยพในเชิง สังคม การเมือง และชนชั้น ที่ยังเป็นเหมือนเชือกที่ขวั้นคอมวลมนุษย์ที่ยากจะปลดออก นับแต่อดีต...มาจนถึงปัจจุบัน และเชื่อแน่ว่าจะส่งผลไปถึงอนาคต คือแรงเหนี่ยวนำสำคัญที่ทำให้นักอ่านทุกคนยกย่องศรัทธา..ทำให้ค่ายหนัง “วอลท์ ดิสนีย์” นำวรรณกรรมเรื่องนี้ไปสร้างเป็นหนังแห่งคุณค่าและได้รับการยอมรับนับถือในฐานะศิลปะการแสดงจากคนดูอย่างมากล้นเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ...22 ปีในโลกแห่งวรรณกรรมทำให้ “หลุม”( Holes) ได้รับการตีพิมพ์ผ่านกาลเวลามาแล้วหลายครั้ง...และสำหรับในภาคภาษาไทยผลงานแปลของนักแปล ผู้เปี่ยมเต็มไปด้วยฝีมือและห้วงอารมณ์ทางศิลปะ “แมกไม้”..ก็ได้ทำให้หนังสือเล่มนี้มีชีวิตชีวาต่อการสดับรู้ เฝ้ามอง และจดจำในฐานะของขวัญแห่งปัญญาญาณมากยิ่งขึ้น..และนั่นคือนัยของการหยั่งเห็นที่เป็นประกายและชวนซาบซึ้งใจต่อวรรณกรรมเล่มนี้...อย่างแท้จริง! “หากจะเล่าถึงรายละเอียดยืดยาวของเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต... คนอ่านควรจะได้เห็นเพียงหนึ่งฉากสุดท้ายที่เกิดขึ้น...หลังจากเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปีครึ่ง..คุณจะต้องถมหลุมให้เต็มด้วยตัวของคุณเอง...”