ระดม7วงดนตรีออร์เคสตร้าชั้นนำ 889 ชีวิต ขับร้อง 44 เพลงพระราชนิพนธ์มหรสพดนตรีสากล งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง ร.9” เชิญสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ เล่นถวายครั้งสุดท้าย เผยเตรียมชุดแสดงมโนราห์บัลเลต์ระบำปลายเท้า กำหนดซ้อมใหญ่ร่วมกันที่โรงละครแห่งชาติ ก.ย.นี้
ดร.อโณทัย นิติพน คณบดีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า รศ.คุณหญิง วงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ได้มอบหมายให้ตนทำกรอบการแสดงดนตรีสากลในส่วนของสถาบันฯ จัดแสดงมหรสพในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นอกจากจะมีเวทีโขนและหนังใหญ่ เวทีละคร และเวทีดนตรีสากล สถาบันฯมีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมแสดงในเวทีที่ 3 ดนตรีสากล จะมีวงดนตรี 7 วง ประกอบด้วยวงดนตรีสี่เหล่าทัพ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU BAND และวงของสถาบันฯ ทำการแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ไม่ซ้ำกัน
ดร.อโณทัย กล่าวว่า ในส่วนของสถาบันฯ เบื้องต้นจะมีนักศึกษาของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาและวงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ประมาณ 40 คน ที่มีความสามารถด้านขับร้องประสานเสียงและเล่นดนตรีเข้าร่วมแสดงดนตรีในชุด “ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า” ร่วมกับวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร สมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงเรียนราชินี และวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ในเวทีที่ 3 สำหรับบทเพลงที่จะบรรเลงประกอบไปด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ได้แก่ แผ่นดินของเรา, Alexandra, ไร้จันทร์, ไร้เดือน และ No Moon นอกจากนี้ จะมีการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง “มโนห์รา” หรือ “Kinari Suite” หนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ จะประกอบด้วยเพลง Nature Waltz, The Hunter, Kinari Waltz, A love Story, ภิรมย์รัก และ Blue day แล้วยังมีบทเพลงเทิดพระเกียรติที่ทางสถาบันฯ จะแสดง 2 เพลง คือ พระราชาผู้ทรงธรรมและในหลวงของแผ่นดิน โดยนักร้องประสานเสียง 89 คน มีอาจารย์วานิช โปตะวณิช นักดนตรีและวาทยกร ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี เป็นคอนดักเตอร์
“เวทีดนตรีสากลในพระราชพิธีครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ 7 วงออร์เคสตร้าชั้นนำ จำนวน 889 คน บรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณในหลวง ร.9 องค์คีตราชัน และถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพทางดนตรี เพราะภาษาดนตรีของพระองค์ท่านเป็นที่ประจักษ์กว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ในงานมหรสพคนไทยจะได้รำลึกถึงเพลงของพ่อที่อยู่ในดวงใจ” อโณทัย กล่าว
คณบดีสำนักวิชาดุริยางคศาสตร์ สถาบันฯ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานขณะนี้อยู่ในระหว่างการแจกจ่ายบทเพลงเพื่อทำการฝึกซ้อม โดยแต่ละวงฝึกแยกกัน เมื่อได้โน็ตเพลงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร นักดนตรีสถาบันกัลยาณิวัฒนาจะเริ่มซ้อมที่สถาบันฯ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ทันที ซ้อมย่อยประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะมีการฝึกรวมเป็นการซ้อมใหญ่ที่โรงละครแห่งชาติ 1 ครั้ง ในเดือนกันยายน จากนั้นจะซ้อมใหญ่เวทีจริง 1 ครั้ง ก่อนวันประกอบพระราชพิธีจริงวันที่ 26 ต.ค.
ด้าน นายสมเกียรติ ศรีคำ หัวหน้ากลุ่มดุริยางค์สากล กรมศิลปากร กล่าวว่า เวทีดนตรีสากลในงานมหรสพครั้งนี้ วงดนตรีทั้ง 7 วง จะแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวน 44 บทเพลง เริ่มการแสดงวงแรกตั้งแต่ 23.00 น.ของวันที่ 26 ต.ค.ต่อเนื่องถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 27 ต.ค. โดยวงของสถาบันกัลยาณิวัฒนาจะเปิดการแสดงวงแรก ตามด้วยวงดนตรีสี่เหล่าทัพ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ปิดท้ายด้วย CU BAND ของจุฬาฯ โดยกรมศิลปากรควบคุมตลอดการแสดง
“ทุกรายการแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะการแสดงบัลเล่ต์ เรื่อง “มโนห์รา” จำนวน 6 องค์ ประกอบด้วยนักดนตรี 89 คน นักแสดงบัลเล่ต์ 89 คน ออกแบบการแสดงเหมือนเมื่อครั้งพระองค์ได้ทอดพระเนตรมโนห์ราบัลเล่ต์ในยุโรป เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ประกอบระบำปลายเท้าที่หาชมได้ยาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจสร้างสรรค์ถวายพระองค์ท่านครั้งสุดท้าย อีกการแสดงเชิญสมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์จำนวน 6 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ร่วมบรรเลงเพลงมโนห์รา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วย” นายสมเกียรติ กล่าว