นายเกษียร เตชะพีระ กีรตยาจารย์ แห่งมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อKasian Tejapira ระบุว่า ทำไมต้องต่ออายุภาวะฉุกเฉิน? %%%% เพราะภาวะฉุกเฉินให้อำนาจอาญาสิทธิ์ (ชั่วคราว) แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังของรัฐและการเมืองไทยซึ่งมาแสดงออกอย่างเข้มข้นรวมศูนย์กระชับประจักษ์ชัดแก่ตาในภาวะวิกฤตโควิด-๑๙ ระบาด ปัญหาเรื้อรังของรัฐราชการไทยคือลักษณะรวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพเชิงโครงสร้าง (overcentralized but underunified state structure) แต่ละส่วนของหน่วยราชการเดินตามภาระหน้าที่ วัตถุประสงค์ กฎระเบียบ เขตอำนาจ ตรรกะเหตุผลและผลประโยชน์ทับซ้อนเฉพาะส่วนเฉพาะหน่วยงานของตนเองที่เรียกว่า "กรมาธิปไตย" (departmentalism) เสมือนเป็นรัฐย่อยอิสระอาญาสิทธิ์ (อธิบดีเป็นเสมือนองค์อธิปัตย์แห่งกรม) ในโครงสร้างรัฐราชการไทย ส่วนปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยคือขาดเอกภาพในรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ละพรรค (และแต่ละมุ้ง) ก็มีฐานกลุ่มทุน เป้าหมายเชิงนโยบายและเขตกำกับควบคุมเชิงฐานนโยบาย ภาคส่วนเศรษฐกิจและพื้นที่เลือกตั้งของตน สาเหตุสำคัญของปัญหาเรื้อรังทั้งสองประการคือการเปลี่ยนไม่ผ่านของรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ไทยไปเป็นรัฐประชาธิปไตยแห่งชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แต่ค้างเติ่งเป็นรัฐราชการ (bureaucratic polity) ซึ่งมีปัญหาความชอบธรรมเรื้อรัง (ไม่มีฐานความชอบธรรมแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม แต่ก็ไม่มีฐานความชอบธรรมใหม่แบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งจริง) การแตกแยกของรัฐและสังคมเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างรัฐ-ทุน-เจ้าพ่ออิทธิพลท้องถิ่นจำนวนมาก ทำให้สร้างเอกภาพปึกแผ่นทางการเมืองการปกครองของรัฐราชการและการเมืองไม่ประชาธิปไตยของไทยไม่ได้เสียที สภาพปัญหาเรื้อรังนี้มาแก้ตกได้ระดับหนึ่งภายใต้พระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่แล้วและฉันทมติภูมิพลช่วงต้นพุทธทศวรรษ ๒๕๓๐ และอำนาจนำของกลุ่มทุนใหญ่จากการเลือกตั้งภายใต้การนำของทักษิณกับพรรคพวกหลังปี ๒๕๔๔ นำไปสู่ความขัดแย้งช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุนจากการเลือกตั้ง กับ สถาบันรัฐพันลึกที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากทั้งหลาย จนลุกลามเป็นสงครามเสื้อสีในยุคการเมืองมวลชนและการเลือกตั้ง รัฐประหารของ คสช. คือความพยายามที่จะหยุดอาการแสดงออกของสงครามการเมืองเสื้อสีนี้ พร้อมกับธำรงรักษาเกลียวอำนาจกองทัพกับสถาบันหลักของชาติ ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านผลัดแผ่นดิน โดยอาศัยการรื้อฟื้นขยายอำนาจของกลไกรัฐราชการอันเป็นเครื่องมือเก่าแต่เดิมในสภาพที่ระบบราชการสมรรถนะตกต่ำถดถอยลงและระส่ำระสายแบ่งแยกทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อาการป่วยเรื้อรังของรัฐราชการและการเมืองไทยมาแสดงออกอย่างเข้มข้นรวมศูนย์ในระยะเวลากระชับสั้นช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ระบาดที่ผ่านมา จนเกิดภาวะรัฐแทบล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้วิกฤตโควิด แต่รัฐบาลกลับมั่นคง (ด้วยรธน. ๒๕๖๐ ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเรา) เมื่อนายกฯประยุทธ์พบว่าเครื่องมือรัฐราชการของตนมีอำนาจมากขึ้น (ตามที่คสช.เติมให้) แต่สมรรถนะต่ำลง (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงทางการเมืองของคสช.เข้าไปในระบบราชการ) จนไม่อาจแก้วิกฤตทันท่วงที ใจของนายกฯก็แย่ลง ๆ ทุกวัน ในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ แบบวิถีอำนาจที่ใช้แก้ไขปัญหารัฐราชการดังกล่าวข้างต้น กล่าวอย่างรวบรัด มี ๔ แบบคือ: ๑) แบบวิถีอำนาจเผด็จการอาญาสิทธ์บังคับรวมศูนย์ของจอมพลสฤษดิ์ ๒) แบบวิถีพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่เก้า ๓) แบบวิถีเสรีนิยมที่หดลดพื้นที่อำนาจบังคับควบคุมของรัฐราชการลงแล้วขยายพื้นที่ตลาดเสรีของธุรกิจเอกชนเข้าแทนที่ของอานันท์ ปันยารชุน ๔) แบบวิถีอำนาจชาวบ้านที่ดึงอำนาจให้หลุดจากเงื้อมมือรัฐราชการแล้วมาให้องค์กรชาวบ้านที่เอ็นจีโอจัดตั้งบริหารจัดการแทนของหมอประเวศ วะสี นายกฯประยุทธ์เลือกใช้วิธี ๑) ของจอมพลสฤษดิ์ในการแก้ปัญหารัฐราชการและการเมืองเฉพาะหน้าวิกฤตโควิด ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน รวมศูนย์อำนาจที่นายกฯและศบค. (อันประกอบไปด้วยตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการเป็นสำคัญ) แปรวิกฤตสุขภาพของชาติให้กลายเป็นโอกาสใช้อำนาจเชิงความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น แม้วิกฤตสุขภาพจะผ่อนเบาลงแล้ว (จำนวนผู้ป่วยโควิดไม่เพิ่มหรือเพิ่มแค่เลขตัวเดียวต่อกันหลายวัน) แต่เนื่องจากปัญหาเรื้อรังของรัฐราชการและการเมืองไทยยังคงอยู่ จึงต่ออายุภาวะฉุกเฉินต่อไป เพื่อใช้อำนาจความมั่นคงมาสยบหยุดยั้งปัญหาเรื้อรังดังกล่าวไว้ แต่นี่เป็นแค่ทางออกชั่วคราว ไม่ใช่ถาวร เพราะไม่ได้แก้ตรงโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ได้แม้แต่เริ่มบำบัดความแตกแยกเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม อันเป็นฐานที่มาของความแตกแยกทางการเมืองและส่วนราชการ อีกทั้งอำนาจฉุกเฉินที่ผิดปกติ (abnormal) นี้ยิ่งใช้ จะยิ่งได้ผลน้อยลงในการบำบัดทุเลาปัญหาเรื้อรังของราชการและการเมือง (diminishing returns) เพราะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำแตกแยกทางเศรษฐกิจสังคมที่แวดล้อมรัฐและการเมืองยังดำรงอยู่ มิหนำซ้ำหนักหน่วงรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมของมาตรการรับมือโควิด (หยุดเศรษฐกิจจริง ปิดเมือง WFH เรียนออนไลน์ ฯลฯ) และยังมาถูกซ้ำเติมด้วยความเหลื่อมล้ำใหม่ ๆ ที่กลายเป็นที่สำนึกตระหนักมากขึ้น ได้แก่ the digital divide (ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่) และการถูกทอดทิ้งเสียเปรียบของ the caring classes ที่เสี่ยงมาก ทำงานจำเป็นต่อเนื่อง ทว่าได้ผลตอบแทนต่ำ เช่น พนักงานส่งของ พนักงานบริการในห้างร้านรวง พนักงานเก็บขยะทำความสะอาด แพทย์พยาบาล ผู้ดูแลรักษาคนสูงอายุ ฯลฯ