นายจ้างนครหลวงถุงเท้าฯยอมจ่ายหนี้ลูกจ้าง-พิลึกจ่ายให้ต่างด้าว 62% สาวพม่าท้อง 4 เดือนค้างค่าจ้างกว่า 1 หมื่นแต่ได้รับแค่ 5-6 พัน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ซอยหมอศรี ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าจากสำนักกาชาดจังหวัดนครปฐม ได้นำถุงยังชีพมาแจกจ่ายให้กับคนงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อนจำกัด ทั้งแรงงานไทยและแรงงานพม่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนงาน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 กลุ่มลูกจ้างของ บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม ได้ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีลูกจ้างกว่า 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน โดยนายจ้างอ้างผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง อีกทั้งบริษัทได้หักเงินเดือนลูกจ้างบางส่วนแต่กลับไม่นำส่งเงินประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างเสียสูญสิทธิเรื่องการักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องเงินสะสมที่นายจ้างไม่ทำตามข้อตกลง และเงินชดเชยเกษียณอายุ นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อน กล่าวว่า ภายหลังจากลูกจ้างได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดี กสร.ทำบางส่วนให้ได้รับการแก้ไขโดยมีเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องลงพื้นที่ตรวจสอบ สอบถามอย่างทันท่วงที โดยเรื่องที่ได้รับการแก้ไข เช่น 1. การจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานไม่ตรงตามวันที่กำหนดไว้ ซึ่งทางบริษัทฯได้นัดจ่ายเงินให้กับพนักงานในวันที่ 19 และ26 พฤษภาคม 2.กรณีที่นายจ้างเก็บเงินจากลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนแต่ไม่ได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมตามระเบียบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 – เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 7 เดือน ส่งผลทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนำไปสู่การขาดสิทธิในการรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดนายจ้างยอมรับสภาพหนี้ลูกจ้างผู้ประกันตน นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ประเด็นเงินสะสมซึ่งเก็บจากลูกจ้างทุกเดือนๆ ละ 50 บาท และนายจ้างร่วมสมทบ เดือนละ 25 บาท รวม 75 บาท/เดือน/คน ซึ่งสะสมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แต่มีผลบังคับจริงใช้ในปี พ.ศ. 2529 อย่างไรก็ตามนายจ้างไม่ได้เก็บเงินสะสมและสมทบเงินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมื่อสหภาพฯ ได้ทวงถามให้ปฏิบัติตามข้อตกลงกลับไม่ปฏิบัติตาม ทางสหภาพฯ จึงแจ้งยกเลิกโครงการและขอให้นายจ้างคืนเงินสะสมรวมเงินสมทบนายจ้าง เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท/คน แต่จนถึงปัจจุบันนายจ้าง ยังไม่ได้คืนเงินให้กับลูกจ้าง รวมถึงลูกจ้างบางคนที่ได้เกษียณอายุงานออกไปแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินคืนในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีกรณีเงินชดเชยเกษียณอายุของลูกจ้าง 16 คน บางคนได้รับบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบและจะมีเกษียณตามมาอีกหลายคน ซึ่งเกรงนายจ้างจะไม่จ่าย “แรงงานพม่าที่นายจ้างไม่นำเข้าสู่ระบบประกันสังคมราว 50 คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่ได้รับสิทธิใดๆ ล่าสุดนายจ้างยอมรับว่าไม่ได้นำส่งจริง และยอมช่วยเหลือในในช่วงโควิดโดยจ่ายเงินให้ลูกจ้างพม่า 62% เท่ากับลูกจ้าง มาตรา 33 กรณีว่างงาน ส่วนกรณีของนางวา แรงงานพม่าท้อง 4 เดือน ขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมกลับประเทศ”นางสาวสุรินทร์ กล่าว นางวากล่าวว่า อยากกลับบ้านที่พม่า แต่รอค่าจ้างจากนายจ้างก่อน ซึ่งรอมาเกือบ 2 เดือนแล้ว ตอนนี้ไม่รายได้ใดๆก็อยากกลับไปคลอดลูกที่บ้านในเมืองมัณฑะเลย์เพราะอยู่ประเทศไทย หากคลอดลูกต้องใช้เงินเยอะ โดยล่าสุดได้มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเดินทางมาหา พร้อมแจ้งว่านำรถตู้มารับไปส่งให้ถึงบ้าน หากข้ามแดนไปฝั่งพม่าแล้ว แต่ต้องถูกกักตัว 21 วัน ส่วนการเดินทางจากนครปฐมไปด่านแม่สอดนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้แจ้งว่าจะมีรถมารับไปส่ง “แต่ยังรู้ว่าจะได้เดินทางเท่าไร เพราะต้องรอเงินค่าจ้างก่อน จริงๆควรได้รับค่าจ้างที่ค้างไว้กว่า 1หมื่นบาท แต่ล่าสุดได้ยินว่านายจ้างจะจ่ายให้ 62% ซึ่งก็คงเหลือ 5-6 พันบาท ตอนนี้ขอให้ได้ก็ดีแล้วเพราะจะได้เอาเงินไปคลอดลูก เพราะช่วงนี้สามีก็ไม่ได้ทำอะไร ยังดีที่ตอนนี้มีคนเอาข้าวสารมาบริจาค”นางวา กล่าว ด้านนางพิสมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า หากนายจ้างไม่นำส่งเงินประกันสังคมที่เก็บจากลูกจ้างไปแล้วเป็นการทำผิดกฎหมาย และต้องถูกลงโทษเปรียบเทียบปรับ อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่ากรณีขอ ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวนั้น นายจ้างได้นำมาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ ซึ่งขอตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมก่อน