คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” “โรคไตเรื้อรัง” เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรวมเกือบ 15 ล้านคน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัส Covid-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานต่ำ จำเป็นต้องดูแลระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อในช่วงวิกฤติแพร่ระบาด รวมทั้งควบคุมดูแลไม่ให้โรคกำเริบ รองศาสตราจารย์ ดร.อรวมน ศรียุกตศุทธ ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และกลุ่มที่ใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง โดยทั้งสองกลุ่มต้องล้างไตอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามแผนการรักษาไปตลอดชีวิต เพื่อทดแทนการทำงานของไตที่สูญเสียไป สถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยไตวายที่ต้องล้างไตและครอบครัว สำหรับผู้ป่วยกลุ่มแรก การเดินทางออกจากบ้านมารับการฟอกเลือดที่ศูนย์ล้างไตสัปดาห์ละ3ครั้ง ยังมีความจำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 อยู่แล้วมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการต้องออกนอกบ้านเป็นประจำ จึงต้องดูแลตนเองอย่างระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อ ส่วนกลุ่มที่ล้างไตทางช่องท้อง เป็นกลุ่มที่ Treat From Home อยู่แล้ว ผู้ป่วยสามารถอยู่บ้านและล้างไตด้วยตนเองที่บ้านได้ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 จากการออกไปนอกบ้านไปอยู่ในที่ชุมชนจึงมีน้อยกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการล้างไตทางช่องท้องที่บ้านที่ต้องใช้อยู่เป็นประจำทุกครั้งที่ล้างไต เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ เป็นต้น ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาสูงขึ้นมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปนานๆ ก่อนหน้านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อรวมน และทีมวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพทางไกลสำหรับการล้างไตทางช่องท้อง หรือ PD Telehealth ซึ่งเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นระบบในการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างทีมสุขภาพและผู้ป่วย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้ความรู้และทักษะการจัดการตนเองให้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วย ข้อมูลการล้างไตและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ผู้ป่วยบันทึกลงในระบบผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือชื่อว่า PD Easy จะถูกส่งมาที่ศูนย์ล้างไต ทำให้ทีมสุขภาพสามารถเฝ้าระวังติดตามความผิดปกติ และให้การดูแลผู้ป่วยที่ล้างไตอยู่ที่บ้านได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การบริการสุขภาพมีคุณภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเป็นหนึ่งในกว่า 90 ผลงาน ที่จัดแสดงในงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดล "Mahidol R-I-SE NOW” จัดโดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีแลนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ร่วมกับ สำนักงานอธิการบดี คณะและสถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในโอกาส 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล ณ คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีที่ผ่านมา “แม้การวิจัยเฟสแรกได้ผ่านการทดลองกับผู้ป่วยศูนย์ล้างไตทางช่องท้องโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาพัฒนาการ ซึ่งเป็นศูนย์ล้างไตทางช่องท้องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และพบว่ามีความเป็นไปได้ในการใช้ระบบดังกล่าว ทีมสุขภาพและผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ ระยะต่อไปทางทีมวิจัยได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น และกำลังจะนำไปให้ผู้ป่วยได้ทดลองใช้อีกครั้ง รวมทั้งจะมีการติดตามผลในระยะยาว ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 จะยังคงยืดเยื้อต่อไป ทางทีมวิจัยก็หวังว่านวัตกรรมการดูแลสุขภาพทางไกลสำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องนี้ จะสามารถช่วยดูแลให้ผู้ป่วยได้ล้างไตอย่างปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการเสียชีวิต ช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวได้ต่อไปในที่สุด” รศ.ดร.อรวมนกล่าวทิ้งท้าย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล