TQA (Thailand Quality Award) หรือ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้กับองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการทุกด้านและมีผลประกอบการที่ดี เทียบเท่าองค์กรที่ยอมรับกันว่ามีคุณภาพสูงสุดของโลก โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award : MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ด้วยเกณฑ์รางวัลที่อยู่ในระดับสูงมาก ทำให้รางวัล TQA ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะคว้ามาได้ง่าย ๆ แต่ละองค์กรต้องพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายที่จะทำให้ได้ตามเกณฑ์เพื่อให้ได้รางวันนี้มาครอบครอง ซึ่งจากเริ่มมอบรางวัลครั้งแรกเมื่อปี 2545 มีเพียงแค่ 4 องค์กรในประเทศไทยที่ได้รางวัล TQA และตั้งแต่ปี 2553 สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังไม่เคยมอบรางวัล TQA ให้กับองค์กรใดอีกเลย แต่ไม่เกินเอื้อมที่ “ธนาคารอาคารสงเคราะห์” หรือ “ธอส.” จะคว้ามาได้ ธอส. ในปี 2562 ถือเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวและแห่งแรกที่ได้รับรางวัล TQA โดยการนำทัพของ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ และการันตีว่าการดำเนินงานทุกด้านของธอส.มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ ธอส. ถูกประเมินผลการดำเนินงานด้วยเกณฑ์ประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (เกณฑ์ SEPA) ตั้งแต่ปี 2553 แต่เนื่องจาก ธอส.ต้องการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง จึงเล็งเห็นว่าการนำเกณฑ์ TQA มาช่วยยกระดับการ บริหารจัดการองค์กรได้ จึงได้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้มาตั้งแต่ปี 2559 จนทำให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการองค์กรที่ดีและสร้างระบบการบริหารที่ดี วางรากฐานที่มั่นคงให้กับองค์กร ผ่านการบริหารจัดการ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการนำองค์กร การกำหนดและสื่อสารพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมสู่การปฏิบัติงานผ่านระบบการนำองค์กรไปยังพนักงานและลูกค้า รวมถึงความมุ่งมั่นต่อค่านิยมของผู้บริหารระดับสูง 2.ด้านกลยุทธ์ คำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่กระทบต่อความยั่งยืนของ ธอส. เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม 3.ด้านลูกค้า เนื่องจากลูกค้าคือคนสำคัญ ธอส. จึง มุ่งเน้นการให้บริการลูกค้า การจำแนกกลุ่มลูกค้า รับฟังเสียงลูกค้าที่แตกต่างกัน เพื่อออกผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงใจลูกค้า 4.ด้านการวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ โดยให้ความสำคัญในการกำหนดตัววัด และติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงการจัดการสารสนเทศที่มีคุณภาพและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง 5.ด้านบุคลากร มุ่งเน้นการบริหารบุคลากรและสร้างความผูกพันด้วยการกำหนด Model 5R คือ 1) Recruit สรรหาคนที่มีความสามารถโดดเด่น 2)Retrain มุ่งเน้นการเพิ่มทักษะความคล่องตัวในการใช้ Digital 3) Re-Allocate บริหารอัตรากำลังเพื่อรองรับต่อยุทธศาสตร์และการเปลี่ยนแปลง 4) Re-Attitude เปลี่ยนแนวความคิดและพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล และ 5)Restructure ปรับโครงสร้างองค์กรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และ6.ด้านการปฏิบัติการ มุ่งเน้นให้มีการจัดการกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้บูรณาการกัน เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นเลิศของธนาคาร ภายใต้ความเชื่อตามเกณฑ์ TQA ที่ว่า “ผลการดำเนินงานที่ดี มาจากกระบวนการทำงานที่ดี” หรือ Good result comes from good process และด้วยการบริหารจัดการทั้ง 6 ด้านข้างต้น ทำให้ ธอส. มีผลการดำเนินงานที่ดีในทุกด้านทั้งมิติการเงินและไม่ใช่การเงิน บุคลากรทั้งกว่า 5,000 ชีวิต มีความเข้าใจบริบทของธนาคาร คือ พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมขององค์กรเป็นอย่างดีจึงร่วมใจกันทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท ในการทำให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจและยังคงมีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทุกด้าน จึงทำให้ ธอส.ได้รับรางวัล TQC ในปี 2561 จากการส่งขอรับรางวัลในครั้งแรก และได้รับรางวัล TQA ในปี 2562 โดยทั้ง 2 รางวัลธนาคาร ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในอดีตซึ่งเป็นการการันตีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศของ ธอส. ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่าน และพร้อมที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านภาคสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยและแผ่นดินไทย ในฐานะองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการทุกด้าน เทียบเท่าองค์กรที่ยอมรับกันว่ามีคุณภาพสูงสุดของโลก ให้สมกับกับที่ ธอส. เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ต่อไป