Thaistopcovid เตรียมความพร้อมให้กิจการที่จะเปิดบริการในเฟสต่อไปได้เตรียมตัว พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มรวมข้อมูลสาธารณสุขในระบบเพื่อวิเคราะห์ประเมินผลรับมือสถานการณ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เพื่อให้การดูแลประชาชนในช่วงโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับปัจจุบันเราอยู่ในโลกยุคใหม่มีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น กรมอนามัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลสุขอนามัยของประชาชน จึงได้มีการนำระบบเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อเป็นการสนับสนุนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่กำลังจะเปิดให้บริการในลำดับถัดไปได้เตรียมตัว ทั้งนี้ โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thaistopcovid ให้ผู้ประกอบการสามารถเช็กรายการเกณฑ์มาตรฐาน มาตรการต่างๆ ผ่าน "Thaistopcovid" เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ก่อนจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เมื่อกิจการหรือร้านที่ผ่านมาตรฐานของกรมอนามัย ร้านนั้นจะขึ้นโชว์ในแผนที่ "Thaistopcovid" เพื่อยืนยันว่าเป็นร้านที่ผ่านมาตรฐานกรมอนามัยแล้ว ทำให้เมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนปรนกิจการในกลุ่มอื่นๆ ก็จะสามารถเปิดได้ทันท่วงที โดยได้พัฒนาแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50 กิจการ/กิจกรรม สำหรับประชาชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลข่าวสารกรมอนามัย และแนวทางปฏิบัติในการเข้าไปในสถานประกอบการต่างๆ โดยประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่า สถานประกอบการไม่ดำเนินการตามมาตรฐานหรือมาตรการของกรมอนามัยก็สามารถร้องเรียนได้ หากมีการร้องเรียนกรมอนามัยจะนำหมุดกิจการ/กิจกรรมออกจากในแผนที่ Thaistopcovid ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาร้านให้ดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีแพลตฟอร์มไทยชนะแล้ว กรมอนามัยจะไปเน้นเรื่อง pre-opening เพื่อให้สถานประกอบการเตรียมความพร้อม เมื่อมีการผ่อนปรนก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที ซึ่งสถานประกอบการบางแห่งต้องมีการเตรียมความพร้อมจำเพาะ หากไม่มั่นใจสามารถปรึกษากรมอนามัยเพื่อออกแบบมาตรการร่วมกันได้ ด้าน นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดดูแลประชาชนในประเทศจำนวนมากและยังมีส่วนโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ อีกทั้งของรัฐและเอกชน จึงมีแนวคิดจะพัฒนาแพลตฟอร์มในการรวบรวมข้อมูลด้านสาธารณสุข โดยมี 4 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1.ควบคุมโรค 2.ตรวจวินิจฉัย 3.ให้การรักษา และ4.สนับสนุนด้านทรัพยากร ซึ่งทั้ง 4 ภารกิจต้องใช้การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน เพื่อใช้ในการประเมินผลวิเคราะห์สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หากมีการระบาดรอบ 2 ระบบนี้จะสามารถทำงานได้รวดเร็วลดความซ้ำซ้อนและทำให้งานป้องกันควบคุมโรคทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น