เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ได้ส่งผลกระทบทางธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการประชุม และสัมมนา ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ด้วยเป็นสถานที่ขนาดใหญ่มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้สะท้อนการดำเนินงานการตั้งรับ และการฟื้นฟูธุรกิจในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ไว้อย่างน่าสนใจ ป้องกันการระบาดอย่างจริงจัง ทั้งนี้ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไม่มีการจัดงานในพื้นที่ เพราะอิมแพ็ค ถือเป็นหนึ่งธุรกิจบริการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยเป็นสถานที่ขนาดใหญ่มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันในกิจกรรมต่างๆ แต่ทั้งนี้ได้ให้ความร่วมมือทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง ภายใต้มาตรฐานการควบคุมของระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการ หรือ มอก.22300 (TIS 22300) ซึ่งหากประเมินผลกระทบด้านรายได้ของ อิมแพ็คในขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีทั้งงานที่ลูกค้าแจ้งเลื่อนและบางงานแจ้งยกเลิกการจัดงานในปีนี้ออกไป ขณะที่ภาพรวมธุรกิจไมซ์จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ได้รับผลกระทบโดยตรง 100% ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่พร้อมกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้นมีการเลื่อนและยกเลิกงานประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันพบว่ามีความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ปรับแผนธุรกิจตั้งรับและฟื้นฟู โดย นายพอลล์ กล่าวว่า ทางอิมแพ็คได้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งทำความสะอาดอาคาร สถานที่ บริเวณห้องจัดงาน จุดบริการอาหารเครื่องดื่ม ห้องน้ำ และอื่นๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ตลอดจนฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นที่จัดแสดงงานตามความเหมาะสม ให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดความแออัด มีการเว้นระยะทางสังคม และให้ทุกส่วนติดตามข่าวสารอัพเดทจากทางหน่วยงานการแพทย์และภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการดำเนินงานป้องกันอย่างถูกต้อง “ในส่วนที่ปฏิบัติงานระหว่างนี้แต่ละฝ่ายก็ได้ทบทวนแผนงานและพัฒนางานที่ดูแลรับผิดชอบ เป็นช่วงเวลาในการตรวจสอบอาคาร สถานที่ เช่น ฝ่ายอาคาร โดยทีมอนุรักษ์พลังงาน ได้ตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าระหว่างที่ไม่มีรายรับ ก็ต้องประหยัดรายจ่าย เช่น ดำเนินการลดใช้พลังงาน ในช่วงมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน เช่น ระบบแสงสว่างส่วนกลาง เปิดและปิดเท่าที่จำเป็น ระบบปรับอากาศเปลี่ยนใช้เครื่องเล็กหรือไม่เปิดเลย กรณีไม่มีการจัดงานในพื้นที่อุปกรณ์ ลิฟท์โดยสาร ทางเลื่อน บันไดเลื่อน ปิดการใช้งานทั้งหมด” สำหรับงานรักษาความปลอดภัยภายในศูนย์ได้ดำเนินการโปรเจ็ค Save Life Save Area ด้วยการแบ่งทีมดำเนินการตรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิและลงชื่อผู้ที่ประสงค์จะเข้าภายในอาคารเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย ส่วนฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ ต้องวางแผนปรับกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย ให้เข้ากับยุคสมัยวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่เน้นเรื่องของสุขอนามัยควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ในแบบฉบับของแต่ละธุรกิจ ใช้วิกฤติเป็นโอกาสสร้างธุรกิจ พร้อมกันนี้ นายพอลล์ ยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมไมซ์หลังโควิด-19 ว่า จะต้องโฟกัสไปที่ New Normal หรือความปกติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นที่จะเกิดขึ้น คือ สุขอนามัย (hygiene) และพื้นที่ประชุมสัมมนาเสมือนจริง (virtual meeting space : VMS) ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดงาน รวมถึงหามาตรการมารองรับที่แตกต่างไปในแต่ละกลุ่มตลาด เพื่อกำหนดออกมาเป็นมาตรการเฉพาะสำหรับการจัดงานแต่ละประเภท ทั้งงานประชุม งานเลี้ยง งานแสดงนิทรรศการ งานแต่งงาน และการจัดสอบ รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการย้ายวันจัดงาน การหาพื้นที่ที่เหมาะสมตามสภาวะและขนาดของงานที่จัด