เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2560 ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำการประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA) ซึ่งเป็นความตกลงจัดตั้งองค์การระดับภูมิภาคด้านการจัดการทรัพยากรประมงในพันธุ์สัตว์น้ำตระกูลอื่นที่ไม่ใช่ปลาทูน่า และขจัดการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย โดยการเข้าเป็นภาคี SIOFA จะทำให้ไทยมีสิทธิเข้าไปทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้มาตรการควบคุมและการอนุรักษ์ของ SIOFA และสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในเขตมหาสมุทรอินเดียให้เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ. 2539 ไทยได้เข้าเป็นภาคีคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission : IOTC) ซึ่งเป็นองค์การระดับภูมิภาคด้านการจัดการทรัพยากรประมงในพันธุ์สัตว์น้ำตระกูลทูน่า การที่ไทยเป็นสมาชิกทั้ง IOTC และ SIOFA จะทำให้การทำประมงนอกน่านน้ำของกองเรือประมงไทยในเขตมหาสมุทรอินเดียเป็นไปตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ไทยก็ได้ปรับปรุงระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงนอกน่านน้ำให้เป็นไปอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะยกระดับการประมงนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากลและขจัดการประมงผิดกฎหมายให้หมดสิ้นไปจากอุตสาหกรรมประมงของไทย
“ปัจจุบันมีเรือที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำแล้วจำนวน 2 ลำ คือ เรือมณีเงิน 5 ซึ่งได้เริ่มออกไปทำการประมงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และเรือโชคเพิ่มสิน 1 ซึ่งได้ออกไปทำการประมงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 โดยทั้งสองลำไปกลับทุก 3 เดือน ขณะนี้เรือทั้งสองลำได้เดินทางกลับมาที่ท่าประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้เรือทรัพย์ดาวประมง 5 อยู่ระหว่างการเตรียมเรือเพื่อออกไปทำการประมง ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ดำเนินการในส่วนมาตรการในการควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย ประกอบด้วย 1.จดทะเบียนเรือประมง (Fishing Vessel Registration) 2.การออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ (Issuance of oversea fishing by Thai flagged fishing vessel) และ 3.การติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังสำหรับเรือประมงนอกน่านน้ำไทย”นายอลงกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนที่ประเทศไทยมีมาตรการเรียกเรือประมงนอกน่านน้ำกลับไทย ปี 2558 หรือกำหนดมาตรการควบคุมที่สอดคล้องกับหลักการสากลการทำการประมงนอกน่านน้ำในประเทศไทยสามารถนำรายได้กว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีปริมาณการจับสัตว์น้ำกว่า 2.5 แสนตันต่อปี
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ออกใบอนุญาตประมงนอกน่านน้ำ กรมประมงออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยให้ไปทำการประมงในพื้นที่ Saya maha bank ซึ่งอยู่ในเขตความดูแลรับผิดชอบของ SIOFA และกรมประมงได้แจ้งขึ้นทะเบียนกับ SIOFA แล้ว จำนวน 6 ลำ ดังนี้
1.เรือมณีเงิน 5 ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 3 พฤษภาคม 2562
2.เรือโชคเพิ่มสิน 1 ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 3 พฤษภาคม 2562
3.เรือเอส เอ็ม เอส 1 ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 12 กรกฎาคม 2562
4.เรือทรัพย์ดาวประมง 5 ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 24 ตุลาคม 2562
5.เรือเซ็นจูรี่ ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 8 ตุลาคม 2562
6.เรือก.วงศ์วัฒนา 6 ออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำ วันที่ 8 ตุลาคม 2562