เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการระบาดอย่างหนักไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ธุรกิจการค้าและการขนส่ง จึงเป็นเหตุให้การส่งออกของสินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ คือ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ซึ่งมะม่วงถือเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย อาทิเช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มีเป้าหมายมุ่งเน้นในการจัดหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรทั้งในและนอกประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะม่วง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง องค์การตลาดเพื่อเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กับสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (CASA : Commercial Association for Sustainability of Agriculture) ได้ดำเนินการช่วยจัดหาตลาดส่งออกมะม่วงมหาชนกไปยังประเทศจีน
“จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตรงกับช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวผลไม้นั้น จึงทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในหลายๆ พื้นที่ ประสบปัญหาเกี่ยวกับช่องทางการตลาดที่ไม่เพียงพอต่อการส่งออกสินค้า กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จึงได้ประสานกับภาคเอกชนในการส่งออกมะม่วงที่มีจำนวนมาก ซึ่งในฤดูกาลนี้มีจำนวนผลผลิตรวมทุกพันธุ์ประมาณ 3 ล้านตัน จะเริ่มจากมะม่วงพันธุ์มหาชนกจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีราคาหน้าสวนอยู่ที่ประมาณ 5 – 6 บาทต่อกิโลกรัม โดยผู้ซื้อจากประเทศจีนนั้น มีความต้องการมะม่วงมหาชนกประมาณ 1,000 ตัน และในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำร่องส่งออกไปแล้วจำนวน 14 ตัน ในราคาเฉลี่ย 10 บาทต่อกิโลกรัม และหลังจากนี้ทาง อ.ต.ก. จะดำเนินการช่วยเหลือด้านการตลาดแก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงและผลไม้อื่น ๆ ต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัสกล่าว
นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อผลไม้ไทย ซึ่งภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้ามาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1.ด้านตลาดในประเทศ ภาครัฐจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า โดยขอความร่วมมือไปรษณีย์ไทยมาช่วยในการจัดส่งผลไม้ฟรี 200 ตัน พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายผลไม้ทางช่องทางออนไลน์ รณรงค์บริโภคผลไม้ในประเทศ (Eat Thai First) 2.ระบบโลจิสติกส์ จัดจำหน่ายผลไม้ทุกชุมชนทั่วประเทศโดยสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผลไม้ร่วมกับผู้ประกอบการผลไม้และผู้ประกอบการบริการโลจิสติกส์ พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค/ท้องถิ่น-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรมหาชน ช่วยซื้อผลไม้และเป็นจุดขาย 3.ด้านการผลิต การบริหารจัดการเรื่องแรงงานเก็บผลไม้โดยจะมีการผ่อนผันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขต ขยายใบต่ออนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 4.เสริมศักยภาพการบริหารจัดการมาตรฐานผลไม้ โดยสร้าง Central Lab ของไทยกรณีสินค้าเกษตรส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะไม่มีการตรวจสอบซ้ำที่ด่านปลายทาง 5.การแปรรูปผลไม้เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับตลาดในและต่างประเทศสร้างมูลค่าให้ผลไม้ไทย