ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยเองก็จะได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการส่งออก หลายธุรกิจรวมถึงสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เนื่องมาจากมาตรการต่างๆที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การอยู่แต่ในบ้าน งดการเดินทาง ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคใหม่ๆ ทั้งสิ่งที่ซื้อ เวลาที่ซื้อ และวิธีการซื้อ จากเดิมที่ต้องเดินทางไปซื้อที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า หรือตลาด เปลี่ยนเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หลีกเลี่ยงการใช้เงินสด เพราะกลัวจะสัมผัสกับเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่บนธนบัตร การตลาดออนไลน์จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในสภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ การทำการตลาดออนไลน์นั้นทำได้หลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับว่าช่องทางไหนให้ประโยชน์สูงสุดหรือเหมาะกับธุรกิจหรือสินค้าของสหกรณ์มากที่สุด ยกตัวอย่างดังนี้ 1.Facebook Fan Page การทำ Facebook Fan Page เปรียบเสมือนหน้าร้านที่เอาไว้พูดคุยกับลูกค้า และบรรยายถึงคุณสมบัติของสินค้าที่เราขาย โปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ไปจนถึงความเป็นมาของร้าน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า สามารถปิดยอดขายได้ผ่าน Facebook Messenger ซึ่งผู้ใช้ Facebook ทุกคนสามารถเข้าชมPage ของเราได้ และบน Facebook ยังมีฟังก์ชั่นอื่นๆสำหรับการขายออนไลน์ได้ ได้แก่ -Facebook Marketplace : เป็นพื้นที่สำหรับขายและโฆษณาสินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ผู้ขายยังสามารถดูจำนวนคนเข้าชมสินค้าได้ด้วย -Facebook Live : เป็นการไลฟ์เพื่อพูดคุยและขายของกับลูกค้าแบบเรียลไทม์ 2.Line Official Account บริการสร้างบัญชีทางการของ LINEโดยสามารถส่งข้อความที่เป็นข้อมูลสินค้า กิจกรรมทางการขายและการตลาด หรือโปรโมชั่นพิเศษถึงผู้ใช้บริการที่เป็นเพื่อนกับบัญชี LINE ของเรา ซึ่งบัญชี Line Official Account จะถูกแสดงบนแพลตฟอร์ม LINE โดยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการที่หลากหลายได้เป็นจำนวนมาก 3.Online Marketplace Platform Online Marketplace Platform ก็คือเว็บไซต์ E-Commerce เช่น Shopee Lazada Kaidee เป็นต้น โดยเราสามารถใส่รายละเอียดสินค้า รูปภาพ และราคาลงไปในเว็บไซต์ได้เลย รวมทั้งสามารถกำหนดค่าขนส่ง โดยที่ไม่ต้องคอยตอบลูกค้าทีละข้อความ เป็นทางเลือกที่ดีในการเริ่มการขายออนไลน์ เพราะเราไม่ต้องหาวิธีการโปรโมท คนทั่วไปรู้จักเว็บไซต์ E-Commerce เหล่านี้อยู่แล้ว จะมีข้อเสียคืออยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการทำให้สินค้าของเราไปแสดงผลอยู่บนหน้าแรกๆของเว็บไซต์เหล่านี้ 4.การสร้างเว็บไซต์ เว็บไซต์ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำการตลาดออนไลน์ เนื่องจากเว็บไซต์ทำให้ธุรกิจดูมีความน่าเชื่อถือ เพราะในเว็บไซต์สามารถให้รายละเอียดของสินค้า การบริการ ประวัติความเป็นมาของสหกรณ์ให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้รู้จักและเข้าใจถึงสินค้ามากยิ่งขึ้น และเว็บไซต์ยังช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร บริการต่างๆ ยิ่งเป็นการการันตีให้ลูกค้ามั่นใจที่จะซื้อสินค้ามากขึ้น ปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดระนอง ก็หันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง พบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและมีความอ่อนไหวด้านราคาลดน้อยลง จึงเป็นเรื่องของการแข่งขันกับคู่แข่งในด้านคุณภาพมากกว่าราคา การส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ จะกลายเป็น "New Normal" หรือ "ความปกติในรูปแบบใหม่" ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร แม้ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม