วิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก พร้อมกับที่ชาวโลกต่างต้องเรียนรู้และปรับตัวรับวิถีใหม่ ขณะในแวดวงการศึกษาของประเทศไทยได้มีการปรับการเรียนการสอนกันอย่างขนานใหญ่
ท่ามกลางการปรับตัวครั้งใหญ่ของสถานศึกษา สู่เทรนด์โลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่-ออนไลน์ แต่สำหรับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้มีความเคลื่อนไหวที่เป็นก้าวสำคัญยิ่งอีกก้าวของ มสธ.และของสถาบันการศึกษาไทย
ผลกระทบวิกฤติโควิด-19 กับ มสธ.
ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท สืบค้า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้กล่าวถึง มสธ.กับวิกฤติโควิด-19 ว่า ต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 กระทบไปทุกวงการ รวมทั้งวงการศึกษา กระทบตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงระดับอุดมศึกษา มสธ.ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดมากว่า 41 ปี ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อนักศึกษาจึงน้อยเพราะเป็นการเรียนการสอนทางไกล
ทั้งได้สร้าง Open University และ Distance education University มาแล้วก่อนมีโควิด-19 คือการที่ผู้สอนผู้เรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เดียวกัน และได้มีการพัฒนาสื่อการสอนให้ทันสมัยโดยคณาจารย์ ผู้รังสรรค์ ทั้งเรียนจากสื่อหลัก สิ่งพิมพ์ สื่อเสริม โทรทัศน์ คาสเซ็ท ซีดี อี-เลิร์นนิ่ง ออนไลน์ ตลอด 41 ปี ตั้งแต่ปีก่อตั้ง มสธ. คือปีพ.ศ.2521
แต่ด้วยมีบางกิจกรรมที่ยังต้องมีการเผชิญหน้ากันอยู่หรือเรียกว่า Face to Face คือกิจกรรมที่ทำให้บัณฑิตของ มสธ. ได้รู้จักรุ่น รู้จักคณาจารย์ ได้มาเรียนรู้และอยู่ร่วมกันทำกิจกรรม เรียกว่า การอบรมประสบการณ์วิชาชีพ โดยจัดให้กับนักศึกษาที่เหลือ 1-3 ชุดวิชาสุดท้ายหรือภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนจะสำเร็จการศึกษา ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป
ขณะที่ มสธ.ต้องปรับตัวรับสถานการณ์ เนื่องจากตั้งอยู่ใน จ.นนทบุรี ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 3 รองจาก กทม. และภูเก็ต จึงได้ให้บุคลากร Work from home แทน แต่บางงานไม่สามารถทำได้ เช่น พนักงานขับรถ ต้องให้มีเวรผลัดเปลี่ยนมา รวมทั้งบางหน่วยงานที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานอื่น งานรับส่งหนังสือ ซึ่งอาจมีเรื่องด่วนต่าง ๆ จึงให้จัดตารางการมาปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันทาง มสธ.ก็มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีเจลล้างมือ เป็นต้น
ที่สำคัญคือ การสอบ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ใช้โรงเรียนต่าง ๆ เป็นสนามสอบ การสอบก็เป็นแบบ Face to Face มีผู้คุมสอบ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 มสธ.จึงคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสจาก Open University และ Distance University มาเป็น Online University ด้วยการพัฒนาการสอบแบบออนไลน์ หรือ Online Examination เป็นครั้งแรก
แนวทางการสอบออนไลน์ของ มสธ.
ที่ผ่านมา 41 ปี การจัดสนามสอบ ได้ใช้สถานที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยการจัดสอบถือเป็นความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของ มสธ. เพราะการจัดสอบของ มสธ.มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ จึงทำให้หลายหน่วยงานมอบให้ มสธ.ดำเนินการจัดการสอบให้ อาทิ สภาการสาธารณสุขชุมชน
ทั้งนี้ มสธ.จะมีการจัดสอบซ่อม ภาค 1/2562 การสอบโครงการสัมฤทธิบัตร รุ่น 109 โดยจะใช้การสอบออนไลน์เป็นหลัก กำหนดสอบในวันเสาร์ที่ 11 และวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.63 และการสอบกลางภาค 2/2562 ในวันที่ 26 ก.ค.63 รวมถึงนักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็สามารถสอบออนไลน์ได้ โดยจะเป็นการสอบออนไลน์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้น และไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนด ประกาศ และมาตรการต่าง ๆ ตามที่ภาครัฐกำหนด อาจจะจัดสนามสอบให้นักศึกษาที่เป็นผู้ต้องขัง และผู้พิการในช่วงเดียวกันกับวันสอบออนไลน์ คือ 11, 12 ก.ค. 63 โดยจะใช้ข้อสอบฉบับเดียวกัน ชุดเดียวกัน
สำหรับเวลาสอบชุดวิชาที่เคยใช้เวลา 3 ชั่วโมง ในการสอบออนไลน์ครั้งนี้จะร่นให้เหลือ 2 ชั่วโมง 30 นาที โดยครึ่งชั่วโมงแรกจะให้นักศึกษาเตรียมตัว เพื่อตรวจสอบได้ว่า นักศึกษาทุกคนสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามาได้ ซึ่งจะใช้ระบบ Moodle และ WebEx
อุปกรณ์ที่จะใช้สอบ ใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต แต่อินเทอร์เน็ต ต้องมีความเร็วอย่างน้อย 4 เมกะบิตต่อวินาที และโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ขอให้ใช้อย่างน้อย 3G ขึ้นไป
รวมทั้งขอให้มีสายหูฟัง เพราะเวลาอาจารย์คุมสอบจะได้สนทนากันได้ และขอให้มีกล้อง หรืออาจใช้มือถือถ่าย ซึ่งจะมีการแนะวิธีให้พิสูจน์ตัวตน โดยจะมีอาจารย์คุมสอบ และเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคให้คำปรึกษาหากนักศึกษามีปัญหา
โดยก่อนจะถึงวันสอบจริง มสธ.จะประชาสัมพันธ์ทำเป็นคลิปให้ความรู้ให้นักศึกษาถึงขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด
1-5 ก.ค.63 เทสต์รันซ้อมใหญ่
สำหรับการคุมสอบออนไลน์ มีกติกา โต๊ะที่ใช้จะต้องไม่มีหนังสือวาง มีเฉพาะคอมพิวเตอร์ จะมีมาตรการสังเกตขณะทำข้อสอบ ผู้คุมสอบจะเห็นหน้าคนที่เข้าสอบได้ตลอด ซึ่งมีข้อบังคับสำหรับคนทำผิดกฎ แต่ขอให้นักศึกษาที่สอบออนไลน์ มีความซื่อสัตย์ มีเกียรติภูมิต่อ มสธ.
ทั้งนี้ จะมีการเทสต์รัน ซ้อมใหญ่ระหว่างวันที่ 1-5 ก.ค.นี้ จนแน่ใจว่าการสอบจริงไม่มีปัญหา ในการสอบ ข้อสอบมีทั้งปรนัยและอัตนัย โดยปรนัยนั้นไม่มีปัญหา สามารถคลิกได้ทันที
แต่สำหรับอัตนัย ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะในการพิมพ์สัมผัสไม่เท่ากัน รวมทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่อาจทำให้เสียเวลา เพราะฉะนั้นในการสอบออนไลน์ครั้งแรกเพื่อขจัดการได้เปรียบเสียเปรียบ ข้อสอบที่ต้องเขียนตอบแบบยาวให้เขียนตอบในกระดาษ และถ่ายภาพส่งกลับเข้ามาในระบบ
นอกเหนือจากนี้ ผู้ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถสอบออนไลน์ได้จริง ๆ ยกเว้นนักศึกษาที่เป็นผู้ต้องขัง นักศึกษาพิการ ต้องยื่นเหตุผลภายใน 24 พ.ค.นี้ หากจะไม่แจ้งจะถือเป็นการสอบออนไลน์
ทั้งนี้ อยากให้นักศึกษาทุกคน เปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรม กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง อยากให้นักศึกษาเข้าสอบออนไลน์มาก ๆ จะถือเป็นการสอบหลัก และจะทำวิจัยควบคู่กันไปด้วย ถ้าประสบความสำเร็จ จะไม่ต้องจัดสอบในสนามสอบอีก เป็นต้นแบบ และเป็นการประหยัด ไม่ต้องเดินทาง
ก้าวต่อไปของ มสธ.จะพัฒนาอย่างไร
มสธ.เป็นมหาวิทยาลัยเปิดทางไกล มา 41 ปี ปีนี้จะครบรอบ 42 ปี ในเดือนก.ย.นี้ ถือโอกาสนี้เปลี่ยนเป็น Online University
ทั้งนี้ ในบางชุดวิชาการที่เป็นวิชาปฏิบัติการ อาจจะต้องมีการผลิตสื่อการสอน พัฒนาในรูปแบบ Virtual Laboratory (ห้องปฏิบัติการเสมือนจริงบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ให้มีการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ อาจมีการทำ Pre-test/ Post-test การสอบ แต่ละปีจะให้มีการสอบ 6 ครั้ง
ถ้า มสธ.ทำได้สำเร็จ การสอบระบบไม่ล่ม ที่อื่นอาจได้เรียนรู้ร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่ มสธ. วาดหวัง และถือเป็นโอกาสที่คน มสธ.จะร่วมกันสร้างพลังนวัตกรรมขึ้นมา ในช่วง New Normal ที่ มสธ.จะเป็นผู้นำ Online University
หลักสูตรของ มสธ.ในปัจจุบัน
หลักสูตรการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2563 มีสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาการจัดการ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ มนุษยนิเวศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์และสหกรณ์ นิเทศศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละสาขาอาจมีมากกว่า 1 หลักสูตร เปิดรับนักศึกษาใหม่ ปริญญาตรีภาคต้น ปีการศึกษา 2563 วันที่ 1 เม.ย.-20 มิ.ย.63 และวันที่ 1 ก.ค.-1 ก.ย.63
หลักสูตรบัณฑิตศึกษา มีสาขาศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาการจัดการ วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มนุษยนิเวศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์และสหกรณ์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะนี้กำลังเปิดรับนักศึกษาใหม่รอบ 2 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.63
ขณะที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าเนื่องจากสถานการณ์โควิดจำนวน 800 บาท รวมทั้งกรณีนักศึกษาจะหมดสถานภาพ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนักศึกษาให้ภาคการศึกษาละ 500 บาท โดยให้แจ้งความประสงค์ก่อนสิ้นสุดปลายภาคปีการศึกษา 2563 นี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.stou.ac.th หรือสอบถาม Call Center 0-2504-7788
“อยากฝากนักศึกษาปัจจุบันให้ร่วมใจกับ มสธ.ร่วมสร้างนวัตกรรมใหม่ นอกจากเคยเป็น Open University เป็น Distance Education University เป็นแห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์แล้ว ตอนนี้เราจะเป็น Online Education University โดยสมบูรณ์”