เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงผลการสำรวจทางโทรศัพท์ โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ พบว่า ประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ระหว่างวันที่ 18-19 เม.ย.2563 48.5% ไม่ได้ดื่มสุราเลย 33% ดื่มน้อยลง 18.2% ดื่มเท่าเดิม และ 0.3% ดื่มบ่อยขึ้น โดยเหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มหยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง เพราะหาซื้อไม่ได้ กลัวเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 รายได้น้อยลง และต้องการรักษาสุขภาพ เมื่อถามว่าก่อให้เกิดความเดือดร้อนมากแค่ไหน พบว่า90.5% ระบุว่า ไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ 5.9% เดือดร้อนจากการไม่ได้ดื่มสังสรรค์ 3.6% เสียรายได้จากการข่าว/ปิดร้าน และ 0.3% มีอาการขาดสุรา ขณะที่มีกรณีศึกษาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ผลการออกติดตามประเมินมาตรการงดขายเหล้าในประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระหว่างวันที่ 2-30 เม.ย. 63 พบผู้มีภาวะถอนพิษสุราหรือลงแดง ต้องเข้ารับการรักษา 181 คน โดยประมาณ 40% อาการไม่มาก แต่มี 60% ต้องรักษาภายใน แต่รักษาเพียงไม่นาน โดยกลุ่มที่มีอายุ 30 ปีมากที่สุดที่ภาวะขาดสุรา แต่เมื่อแยกอายุแล้วพบว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการขาดสุรากลุ่ม 20 ปี ซึ่งเป็นข้อที่น่ากังวล เพราะพบผู้ขาดสุราในอายุน้อยลง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยชายไทยที่ติดสุรามา 15 ปี หลังจากประกาศหยุดขายสุรา วันที่ 3 เม.ย. เริ่มมีอาการสั่น วิงเวียน วูบ หลอน พูดจาไม่รู้เรื่อง ชัก โดยพ่อ พี่สาว พาไปโรงพยาบาลรวมแพทย์ มีอาการชักไม่หยุด จึงส่งต่อให้โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อแอดมิต 4 วัน มีอาการไม่รู้สึกตัว หลังฟื่นรักษาต่ออีก 5 วัน ตอนนี้หยุดสุราได้แล้ว และตั้งใจเลิกสุราเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นผู้ติดเหล่าที่หยุดดื่มสุรา จากกมาตรการงดขายสุราช่วง COVID-19 สำหรับผลที่ได้จากการงดขายสุรา 1 เดือน ลดการรวมกลุ่มดื่มสุรา รักษาระยะห่างทางสังคม ลดการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และเพิ่มโอกาสให้ผู้ดื่มสุราได้ลดและหยุดดื่มได้ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ดื่มสุราและครอบครัว ชุมชน ขณะที่มาตรการระยะยาว จะช่วยให้ผู้ดื่มสุราปรับตัวคุ้นชินกับพฤติกรรมใหม่ที่ไม่ดื่มสุรา สมองและร่างกายมีเวลาพัก ฟื้นฟูสุขภาพ และสามารถหยุดดืมสุราได้อย่างถาวรในที่สุด ขณะที่สถิติอุบัติเหตุช่วงปี 2560-2563 พบว่า อุบัติเหตุจากการเมาสุราในปี 2563 ลดลง 5.5 เท่า หลังงดขายสุราในช่วง COVID-19 มูลค่าความสูญเสียจากผู้ประสบเหตุเมาสุาลดลงถึง 84% ขณะที่ความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 ของผู้ดื่มสุรา การดื่มสุราหนักหรือการติดสุรา ทำลายเม็ดเลือดขาว ชนิด macrophage ในปอด เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส 3-7 เท่า และมีโอกาสเข้า ICU มากกว่าปกติ 60% หากป่วยเป็นโรคปอดบวม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปี ขึ้นไป การดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและป่วยเป็นหวัด 30% ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มสุรา เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในปอดของทารกแรกเกิด ถึง 2.9 เท่า "ขอยืนยันว่า ไม่เคยมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยป้องกันหรือฆ่าเชื้อไวรัสได้ ในทางกลับกัน การดื่มสุราจะยิ่งทำให้ตับถูกทำลายลดภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อ ลดการตอบสนองต่อยารักษาภาวะเชื้อ COVID-19" พญ.พันธุ์นภา กล่าว