"ทรีนีตี้"ประเมิน กนง.ประชุม 20 พ.ค.63 ให้น้ำหนักโน้มเอียงไปยังการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังสัญญาณคุมเข้ม COVID-19 เห็นผลบวกชัดเจนขึ้น ประกอบกับการเก็บกระสุนไว้ในยามจำเป็น และมาตรการของ ธปท.ที่ออกมาแก้ไขปัญหาตรงจุดก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากมีมติลดดอกเบี้ยตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ประเมิน SET Index จะไม่ได้แรงหนุนมากนักเนื่องจากดัชนีตอบรับไปบ้างแล้ว นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 20 พฤษภาคมนี้มีความเป็นไปได้ 50:50 ระหว่างการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.50% และการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม 0.75% สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนให้ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนั้น ได้แก่ 1. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เตรียมผ่านพ้นจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่สองนี้ หลังมาตรการคุมเข้ม Lockdown เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวก 2.กนง.อาจเลือกเก็บ Policy space ไว้ใช้ในยามจําเป็นเช่น ความเสี่ยงของการระบาด COVID-19 รอบที่สอง 3.การออกมาตรการต่างๆที่แก้ไขปัญหาตรงจุดไปแล้ว เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการลดเงินนำส่ง FIDF ซึ่งช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปก่อนหน้านี้แล้ว 4.เสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากเกิดขึ้นน่าจะมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงมากในช่วงหลัง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคที่อ่อนแอ รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่อาจจะหดตัวนานกว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้เดิม โดยการประชุม กนง.ครั้งนี้มีสัญญาณค่อนข้างผสมผสานคือ นักเศรษฐศาสตร์ในตลาดเกือบ 90% คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.50% แต่หากไปดูในตลาด Swap จะพบว่านักลงทุนมีการ Price in การลดดอกเบี้ยไปเพียง 45% เท่านั้น สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น หากมีการคงดอกเบี้ยจริง คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง เนื่องจากราคาหุ้นที่ร่วงแรงในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนแรงกดดันต่อ NIM ไปพอสมควร ในทางกลับกัน หากมีการลดดอกเบี้ยตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ประเมินอาจเห็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงแรกจากเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่มีปัจจัยบวกก็คือโอกาสที่ระดับ Multiple หรือ Forward PE ของตลาดจะมีการขยายตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หากอิงตามสมมติฐาน PE Model ของทรีนีตี้ล่าสุดจะได้ว่า Forward PE ในกรณีแย่สุด,กรณีฐาน และกรณีดีสุดจะขยับขยายออกไปเป็น 14.6,15.7 และ16.8 เท่าตามลําดับ ซึ่งหากอิงกับประมาณการกำไรสุทธิ ( EPS) ของตลาดปีนี้ที่ล่าสุดอยู่ที่ 69.4 บาท จะได้ระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในแต่ละกรณีอยู่ที่ 1010,1090, และ 1170 จุดตามลําดับ ซึ่งหากนำมาเทียบเคียงกับดัชนีในปัจจุบันก็จะพบว่าไม่ได้มี Upside แล้ว อย่างไรก็ตาม หากคำนวณอิงกับประมาณการ EPS ปีหน้าที่ 85.3 บาท จะได้ว่าระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในแต่ละกรณีคือ 1240, 1340, และ 1430 จุดตามลำดับ ทั้งนี้ ในขณะที่เรากำลังอยู่ในช่วงของเดือนพฤษภาคมนี้ ประเมินว่าระดับดัชนีเป้าหมายที่เหมาะสมควรจะใช้ค่าเฉลี่ยของระดับกรณีดีสุดจากประมาณการ EPS ปีนี้และปีหน้าที่ 1170 และ 1430 จุดตามลำดับ ซึ่งได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1300 จุดพอดี กล่าวโดยสรุป ประเมินว่าระดับ SET Index ที่ซื้อขายอยู่เหนือ 1300 จุดในปัจจุบันนั้นเป็นระดับที่ตึงตัวในแง่ของ Valuation แล้ว ถึงแม้ว่าจะรวมผลกระทบเชิงบวกจากความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วก็ตาม