อธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งติดตามแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าต่อเนื่อง ควบคุมโรค รู้เร็ว สงบเร็ว ลดความเสียหายให้ประเทศไทยคืนสภาพปลอดโรคเร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงม้าแห่งประเทศไทย สมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย สโมสรขี่ม้า กลุ่มผู้เลี้ยงม้า องค์การสวนสัตว์ หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ กรมการสัตว์ทหารบก กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ สัตวแพทย์สภา สัตวแพทย์สมาคม สมาคมสัตวแพทย์โลก อาจารย์จากภาคมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคในม้า สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคในสัตว์ กองสารวัตรและกักกัน สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ สำนักกฎหมาย กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) จากการสำรวจในประเทศไทย มีผู้เลี้ยงม้าจำนวน 2,987 ราย ม้าจำนวน 16,890 ตัว พบการเกิดโรคในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และล่าสุดนครนายก มีม้าป่วยสะสมจำนวน 581 ตัว มีม้าตายจำนวน 540 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563) เกิดโรคมากที่สุดที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (81%)
ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคที่ลดลง โดยกรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้เร่งร่วมหารือบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างโปร่งใส เพื่อกำจัด ควบคุมสถานการณ์และจำกัดวงพื้นที่การเกิดโรค ลดความเสียหาย ให้มีม้าตายน้อยที่สุด ให้ประเทศไทยคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ให้เร็วที่สุด โดยกรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ดังนี้
1.การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ เพื่อดำเนินการ 5 คณะ
-แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 546/2563 ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ลงนามโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งดำเนินการกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาโรค AHS คณะกรรมการประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตวแพทย์สภา องค์การสวนสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงม้า ภาคมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
-แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ในม้าลาย ตามคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 2/2563 ลงวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อการสอบสวนหาสาเหตุทางระบาดวิทยา และเฝ้าระวังการเกิดโรคในม้าลาย คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร นายกสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่า เป็นประธาน กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมาคมผู้เลี้ยงม้า องค์การสวนสัตว์ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
-แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 1/2563 ลงวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อดำเนินงานตามแนวทางและนโยบายแก้ไขปัญหาโรค AHS
-แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้วัคซีนกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งกรมปศุสัตว์ที่ 376/2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 เพื่อพิจารณาการใช้วัคซีนให้เป็นตามกฎ ระเบียบและสอดคล้องตามหลักวิชาการของ OIE
-แต่งตั้งคณะทำงานสัตวแพทย์ปฎิบัติการ ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการฯ ม้าลาย ที่ 1/2563 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อปฏิบัติงานพื้นที่ภาคสนามในการเฝ้าระวังและดำเนินการตามแนวทางแก้ไขโรคในม้าลาย
2.ได้ทำแผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ระยะที่ 2 คือการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 คือการขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ภายระยะเวลาใน 2 ปี
3.สถานการณ์และการวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดของโรค AHS ใน 11 จังหวัด จำนวนม้าในพื้นที่เสี่ยง 6,793 ตัว จะพบอุบัติการณ์เกิดโรคในรัศมีรอบ 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค เฉลี่ย 8.55% ซึ่งมาจากอิทธิพลของลม สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ และแมลงพาหะ ซึ่งขณะนี้ จากการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาพบอุบัติการณ์ลดลงอย่างมาก มีการตายลดลง มีการแบ่งเป็น Inactive zone ได้แก่ สระแก้ว ราชบุรี ชัยภูมิ ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี Active zone ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ได้แก่ นครราชสีมา อยุธยา สระบุรี ลพบุรี เพชรบุรี และนครนายก
4.ผลการดำเนินการควบคุมการเกิดโรคของกรมปศุสัตว์ AHS ได้แก่ การตั้งศูนย์เฝ้าระวังปฏิบัติการ War Room ทั้งในส่วนกลางและจังหวัดพื้นที่เกิดโรค, การควบคุมการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ ม้าลายและสัตว์ตระกูลอีไคดี, การ x-ray พื้นที่ที่มีการเลี้ยงม้า เพื่อเฝ้าระวังโรคทางอาการ, กำหนดมาตรการควบคุมโรคในฟาร์มม้า และการฉีดวัคซีนในพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค โดยจากการนำเข้าวัคซีนล๊อตแรก 4,000 โด๊ส ฉีดครั้งแรกวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่สถานเสาวภา จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันได้ฉีดไปแล้ว 3,839 โด๊ส (ม้า 3,839 ตัว) ซึ่งได้มีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมอีก 4,000 โด๊ส เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 และการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง
5.การประเมินผลและทบทวนแผนปฏิบัติการกำจัดโรค AHS เพื่อคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก ของประเทศไทย มีมาตรการสำรวจประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น การจัดทำฐานข้อมูล/สำรวจประชากร การเฝ้าระวังโรค และวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยาโดยใช้ E-smart plus และประเมินผลการฉีดวัคซีนในรัศมีรอบจุดเกิดโรค 50 กิโลเมตร 19 จังหวัด คอกม้า 1,087 แห่ง จำนวนม้า 6,207 ตัว (ดำเนินการแล้ว 589 แห่ง จำนวนม้า 3,839 ตัว คิดเป็น 61.85%) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และวิเคราะห์ความเสี่ยงทางระบาดวิทยา มากที่สุดคือระยะทางและความหนาแน่นของม้า และติดตามสถานการณ์โรค เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม โดยมีแผนและเป้าหมายการใช้วัคซีนรวมทั้งหมดในพื้นที่เสี่ยงและรัศมีรอบจุดเกิดโรค 50 กิโลเมตร 21 จังหวัด ในคอกม้าจำนวน 1,245 แห่ง ม้าจำนวน 7,999 ตัว
6.แผนการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการฯ โรค AHS ในม้าลาย จากการสำรวจม้าลายในประเทศไทยจำนวน 541 ตัว ผู้เลี้ยงม้าลาย 24 ราย จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS การสำรวจติดตามโรค เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้การระบาดของโรค เช่น ม้า ลา ล่อ มีมาตรการด้านการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะ และการแต่งตั้งคณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการเพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดในม้าลายในวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2563 ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสอบสวนสาเหตุทางระบาดวิทยาต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อร่วมบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม และมหาวิทยาลัยในการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ร่วมคลี่คลายสถานการณ์ในระยะเวลาให้สั้นที่สุด ควบคุมสถานการณ์และจำกัดการเกิดโรคให้อยู่ในพื้นที่ ลดการสูญเสียและผลกระทบ ลดจำนวนม้าตายให้น้อยที่สุด และขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และขอความร่วมมือ ผู้เลี้ยงม้าหากพบการเจ็บป่วยหรือตาย แจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ทันทีที่ 06 3225 6888