สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “ปัจจุบัน การค้นพบ #ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดวงใหม่ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังคงตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายโลก หรือมีเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ K2-18b ที่เคยค้นพบว่ามีน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศเมื่อปลายปีที่แล้ว
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตามรายงานในวารสาร Astrophysical Journal Letters นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์อธิบายชั้นบรรยากาศและโครงสร้างชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ “K2-18b” พบว่าแม้ดาวเคราะห์จะมีมวลมากกว่าโลกหลายเท่า แต่อาจมีสภาพที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต และอาจมีน้ำที่อยู่ในสภาพของเหลวได้
K2-18b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 2 เท่า และมีมวลมากกว่าโลกเกือบ 9 เท่า แต่เพิ่งจะเป็นที่สนใจต่อวงการดาราศาสตร์ในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 เนื่องจากนักดาราศาสตร์ค้นพบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศ และอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ดี การค้นพบในครั้งนั้นยังไม่ช่วยให้ K2-18b อยู่ในลิสต์ “บ้านหลังใหม่” ของมนุษย์ เนื่องจากประเภทของดาวเคราะห์นั้นอยู่ระหว่างซูเปอร์เอิร์ธ (super-Earth) และมินิเนปจูน (mini-Neptune) กล่าวคือ มีมวลมากกว่าโลก แต่น้อยกว่าดาวเนปจูน เบื้องต้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ประเภทนี้จะมีแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียมหนาแน่นมากเกินไป ทำให้น้ำไม่สามารถคงสภาพของเป็นของเหลวและไม่เอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิต
ล่าสุด งานวิจัยนำทีมโดย ดร.นิกกุ มธุสุทัน จากสถาบันดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่ออธิบายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ K2-18b ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาหลายรูปแบบ กล่าวคือ ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ไม่จำเป็นจะต้องมีแก๊สไฮโดรเจนที่หนาแน่นเหมือนกับดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ในระบบสุริยะของเราเสมอไป สามารถมีโครงสร้างของชั้นบรรยากาศได้อีกหลายรูปแบบที่เอื้อให้น้ำคงสภาพเป็นของเหลวได้ รวมถึงที่พื้นผิวดาวอาจมีความดันบรรยากาศและอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับโลกได้ หากมีมวลของแก๊สไฮโดรเจนไม่เกินร้อยละ 6 ของมวลดาวเคราะห์
ดร.นิกกุ มธุสุทัน กล่าวในการแถลงว่า “ถึงแม้จะมีการค้นพบโมเลกุลน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากมาย หรือแม้กระทั่งดาวเคราะห์ดวงนั้นอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ก็ไม่ได้หมายความว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นจะมีสภาพพื้นผิวและความดันบรรยากาศที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เราจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงโครงสร้างของชั้นบรรยากาศมากกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ว่าน้ำสามารถคงสภาพเป็นของเหลวบนพื้นผิวดาวเคราะห์นั้น ๆ ได้”
ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ไม่น่าจะมีสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้ เพราะอาจมีแรงดันบรรยากาศที่สูงจนเกิดไป ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์หันกลับมาสนใจดาวเคราะห์ประเภทดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อวางแผนการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของชั้นบรรยายผ่านกล้องโทรทรรศน์ยุคใหม่ต่อไป
อ้างอิง :
https://www.iflscience.com/…/this-large-exoplanet-might-ha…/
เรียบเรียง : ศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”