โครงการ “ปราชญ์ร่วมใจ สรรค์สร้างไทยเป็นหนึ่ง” เป็นกิจกรรมที่ได้รวบรวมปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความรู้ ความสามารถ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาขยายผลถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ปราชญ์เพื่อความมั่นคง ผนึกกำลังในการนำองค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชามาใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยการสร้างต้นแบบปราชญ์เพื่อความมั่นคงรวมกัน 260 คนทั่วประเทศ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้เชิญปราชญ์ความมั่นคงใน 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างมาร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วม ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายมูหัมมัดซัมซูดิน เซ็นมาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียง(ชันโรงบูโด ยี่งอ) กล่าวถึงการร่วมโครงการว่า “ ตัวเองเป็นตัวแทนของปราชญ์ที่ได้นำความรู้จากปราชญ์รุ่นก่อนๆในพื้นที่ นำความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดรวมกับนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มมูลสินค้า สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน นำสิ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างสมดุลตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน ประชาชนมีรายได้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐาน”
พ.อ.หญิง ณัฐฐจิตน์ วัยวุฒิ รอง ผอ.ส่วนงานเสริมสร้างความมั่นคงสถาบันหลัก ศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กอ.รมน.กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “โครงการได้นำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้โดยมีปราชญ์เพื่อความมั่นคงเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ปราชญ์ทุกคนมีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ความรู้ตามแนวพระราชดำริเป็นที่ประจักษ์ผลถึงความสำเร็จอยู่แล้ว ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมคือการได้รับความรู้จากปราชญ์รุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ มีความรู้ดั้งเดิมมาประสานกับความรู้ของปราชญ์รุ่นใหม่ที่มีการนำนวัตกรรมมาเสริมผสานกับความรู้ดั้งเดิม เกิดการพูดคุยต่อยอดความรู้จากคนทั้งสองรุ่น ความรู้ที่ได้รับนำไปสู่การพัฒนา สร้างรายได้ให้กับชุมชน และทุกครั้งในการทำกิจกรรมเราจะเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านได้ภูมิใจในความเป็นคนไทย รู้สึกรักและห่วงแหนแผ่นดิน”
นายจิรัฏฐ์ ภัทราปฐวีวงศ์ รองประธาน YOUNG SMART FARMER จ.นราธิวาส กล่าวถึงความประทับใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า “ขอขอบคุณ ทาง กอ.รมน.เป็นอย่างมากที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้น และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม ความรู้ที่ได้รับในวันนี้จะนำไปใช้ในศูนย์การเรียนรู้ที่กำลังจะสร้างขึ้นในชุมชน การเข้าร่วมกับเครือข่ายในครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักปราชญ์เพื่อความมั่นคงหลายๆท่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกลุ่มไลน์ปราชญ์ กอ.รมน. หรือ Facebookที่ใช้สื่อสารกัน ทำให้ได้รับความรู้ในวงกว้าง ปราชญ์แต่ละท่านมีความรู้ความชำนาญในแต่ละด้านต่างกัน การเข้ามาร่วมเครือข่ายทำให้ ตนเองได้รับความรู้และประสบการณ์มากขึ้น สามารถนำความรู้นี้กลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน”
น.ส.นิภาพร สุวรรณสถิต ประธานองค์กรคนรุ่นใหม่ จ.นราธิวาส กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ “ตัวเองเป็นประธาน YOUNG SMART FARMER ระดับจังหวัด การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงพลังการขับเคลื่อนระดับกลุ่มเป็นเครือข่ายว่าได้รับความสำเร็จมากกว่าการขับเคลื่อนเฉพาะกลุ่มของตนเองเพียงกลุ่มเดียว ความประทับใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้คือการเข้าร่วมกับเครือข่ายทำให้เกิดพลังในการทำงาน ได้ความรู้ที่หลากหลาย สร้างความแข็งแรงให้ชุมชนและเครือข่าย การอบรมสัมมนาเป็นกำไรของชีวิตเพราะทำให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆที่เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดการกระจายความรู้สู่ระดับอำเภอ และจังหวัด ขอขอบคุณทาง กอ.รมน.ที่ทำให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชาที่ชุมชนสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”
นายสุรสิทธิ์ สุดสาย ผอ.สำนักงาน กศน. จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงภารกิจ ของกศน.ว่า “ กศน.เป็นผู้เสริมความรู้ในเรื่องระบบ ICT ดิจิทัลชุมชน มีเว็บต์ของแต่ละตำบล ให้ความรู้เรื่องดิจิทัลกับเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง ปราชญ์ทุกท่านตอบรับกับการเรียนรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบันระบบดิจิทัลมีความสำคัญในการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการค้าขายแบบออนไลน์ กศน.ยินดีให้ความรู้ให้กับประชาชนทุกคน ”
น.อ.วรพล สิทธิจิตต์ ร.น. รอง ผอ.รมน.จังหวัดนราธิวาส (ท.)กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการนี้ ว่า “ ปราชญ์ความมั่นคง ทั้ง 8 จังหวัดที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เราได้คัดเลือกปราชญ์ที่มีความโดดเด่น และมีความรู้ที่หลากหลายสาขา กอ.รมน.เข้ามาเสริมความรู้ สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แลกเปลี่ยนความรู้ กอ.รมน.เข้ามาเสริมเรื่องโอกาสการเรียนรู้ จัดให้มีพื้นที่เรียนรู้ ได้เข้ามาปฏิบัติจริง ประเทศไทยเรามีองค์ความรู้ที่ได้จากปราชญ์ท้องถิ่นมากมาย ทางรัฐบาลและ กอ.รมน.ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดให้มีการรวบรวมความรู้จากที่ต่างๆ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่สามารถพัฒนาต่อยอดผลผลิตไปสู่การแข่งขันระดับโลก”
ความสำเร็จของ“โครงการปราชญ์ร่วมใจ สรรค์สร้างไทยเป็นหนึ่ง” เกิดจากการบูรณาการของ 3 ประสานได้แก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และปราชญ์ความมั่นคง จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประจำตำบลและสร้างปราชญ์ความมั่นคงให้มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของชุมชน
ตัวอย่างของปราชญ์เพื่อความมั่นคงที่ประสบความสำเร็จ คือนายสมาน ผ่านพรม ปราชญ์ชุมชนต้นแบบบ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อำเภอเมือง จ.นราธิวาส นายสมาน เป็นชาวพุทธที่ย้ายมาจากจังหวัดยะลา มีอาชีพเกษตรกร ปลูกปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพื้นที่การเพาะปลูกเป็นดินทราย หลังจากได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็ได้นำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง จนสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
นายสมาน กล่าวว่า “หลังจากที่เขาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็ได้รับความรู้เรื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรเรื่องการปลูกพืชในภาชนะ และนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ในระยะแรกของการปลูกยังไม่ได้รับผลดีพบปัญหาพืชในกระถางไม่เจริญเติบโต ลองผิด ลองถูก จนค้นพบวิธีที่จะทำให้พืชเติบโต โดยการนำดินที่ใช้ปลูกนำมาผสมกับวัสดุอื่นที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น และได้ค้นพบว่าทะลายปาล์มที่เหลือจากโรงกลั่นปาล์มน้ำมันสามารถนำมาผสมกับดิน นำมาใช้ในการปลูกพืชในภาชนะได้ผลดีหลังจากนั้น ก้อพัฒนามาเป็นการปลูกพืชบนแคร่ตามเทคนิคใหม่โดยใช้เวลาการพัฒนา 4 ปีจึงประสบความสำเร็จ เทคนิคนี้นอกจากพืชผักเติบโตดีแล้ว ยังประหยัดน้ำด้วย เน้นการปลูกพืชผสมผสาน ให้ความรู้และสอนเทคนิคใหม่ๆ การปลูกพืชปลอดสารเคมี เทคนิคการปลูกพืชในโรงเรือน ปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ปุ๋ย หาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในชุมชน การได้รับการยอมรับจากชุมชนในทุกวันนี้เกิดจากการปฏิบัติจริง ได้ผลจริง และถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนโดยไม่หวังสิ่งอื่นใด สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผ่านกลุ่มเกษตรที่ได้รับความรู้และนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง การพัฒนาให้ชุมชนเข็มแข็งทำให้ชุมชนมั่งคั่งและยั่งยืน”
นางรุสรีนา มะแอ ประชาชนบ้านฮูแตทูวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส หนึ่งในประชาชนที่ได้รับการชักชวนให้มาทำการเกษตรในเทคนิคใหม่กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการว่า “ตอนแรกประกอบอาชีพเย็บผ้าต่อมาเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง ลุงสมานได้ชวนให้มาปลูกพืชเทคนิคใหม่ โดยทางลุงสมานจะเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งการตัดแต่งกิ่ง การให้ปุ๋ย การผสมเกสร จนเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น พืชที่ปลูกหลังจากบริโภคในครัวเรือนก็นำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ตอนมีสมาชิกในโครงการทั้งหมด 56 คน”
ความสำเร็จ ของนายสมาน ผ่านพรหม เกิดจากการเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ การเป็นผู้ให้ที่ไม่หวังผล ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมากในชุมชน เกิดศูนย์เรียนรู้ซึ่งเป็นต้นแบบการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบของการอยู่รวมกันของคนในแบบพหุสังคมที่มีทั้งชาวพุทธและมุสลิม ประชาชนในชุมชนหันมาสนใจการปลูกพืชผสมผสานเพราะเห็นตัวอย่างความสำเร็จของคุณสมาน ภายในศูนย์การเรียนรู้จะทำการปลูกพืชหลากหลายตามความต้องการของแต่ละคน โดยมีคุณสมานเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำการใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ปลูกฝังการทำเกษตรอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน นี่คือการนำศาสตร์พระราชามาพัฒนาสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลจากรายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 21.00-22.00 น.