หลังจากศบค.เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนกองถ่ายภาพยนตร์ฯระยะที่2ช่วงโควิด-19 ตามที่ก.วัฒนธรรมเสนอ เมื่อเปิดดูข้อกำหนดปฏิบัติและข้อห้ามมีรายละเอียดยิบย่อยทีเดียว ลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 ที่ประชุมใหญ่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการผ่อนปรนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะที่ 2 ในส่วนกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และโทรทัศน์โดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้กำหนดมาตรการผ่อนปรนกรณีผู้ประกอบการด้านดังกล่าว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย
ส่วนงานหน้าฉากรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน ส่วนแผนกงานอื่นรวมกลุ่มไม่เกิน 5 คน ได้แก่ แผนกกล้อง ช่างภาพ ช่างไฟ แผนกเสียง แผนกอุปกรณ์เคลื่อนกล้อง แผนกฉากและศิลปกรรม อุปกรณ์ประกอบฉาก แผนกเสื้อผ้า/แต่งหน้าทำผม ผู้กำกับและนักแสดง แผนกจัดการกองถ่าย/แผนกจัดการสถานที่/แผนกสวัสดิการกองถ่ายให้แยกจากส่วนงานถ่ายทำ และแยกอาหารและเครื่องดื่มรายบุคคล รวมทีมงานหน้าฉากและทุกแผนกไม่เกิน 50 คน
ทั้งกำหนดให้มีการลงทะเบียนทีมงานในกองถ่ายทุกคนก่อนเข้าและออกจากกองถ่ายทำ และใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามความเหมาะสม รวมทั้งอาจให้มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ช่วง 14 วันก่อนร่วมงาน เช่น เดินทางไปในที่ชุมนุมชนที่สาธารณะที่มีคนรวมกันจำนวนมาก ใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ
ส่วนแผนกงานหลังฉาก ทั้งแผนกจัดการกองถ่าย แผนกการจัดการสถานที่ แผนกสวัสดิการกองถ่าย แผนกกล้อง และช่างภาพ ช่างไฟ ช่างเสียงและอุปกรณ์เคลื่อนกล้อง แผนกฉากและศิลปกรรม อุปกรณ์ประกอบฉากแผนกเสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม และอื่นๆ ควรจัดให้มีการแยกการทำงานให้ห่างกันอย่างชัดเจน และลดการพูดคุยหรือสัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งเว้นการถ่ายทำฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดและเข้าถึงตัว เช่น ฉากต่อสู้ ฉากแสดงความรัก โอบกอด จูบ พูดเสียงดัง ซึ่งอาจใช้เทคนิคพิเศษแทนไปก่อน
นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมหลักและมาตรการเสริมสำหรับพื้นถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยเจ้าของ/ผู้ควบคุมกองถ่ายต้องจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่
1.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค รอบบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน และสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ
2.จัดให้มีจุดคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด
3.แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ล่วงหน้าก่อนการถ่ายทำ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามมาตรการฯ ที่กำหนด
4.ควรทำสัญลักษณ์การเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร ในบริเวณทุกจุดที่มีที่นั่ง เช่น หน้ามอนิเตอร์ ห้องพักนักแสดงและทีมงาน จุดรับประทานอาหาร
5.จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีขณะถ่ายทำภายในอาคาร และเลี่ยงการถ่ายทำในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
6.เลือกใช้พื้นที่ถ่ายทำที่มีบริเวณกว้างเพียงพอเพื่อให้แบ่งพื้นที่ตามส่วนงานให้ชัดเจน ในอัตราส่วน 1 คนต่อ 10 ตารางเมตร แต่ละส่วนงานห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
และ 7.ควรจัดให้มีจุดรับประทานอาหารที่มีอากาศถ่ายเท ไม่คับแคบจนเกินไป และให้มีการจัดอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนบุคคล ไม่ให้ตักอาหารในภาชนะหรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
ทั้งนี้วธ.จะร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจร่วมกับตำรวจ ทหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนว่ามีการฝ่าฝืนมาตรการและให้มีการสุ่มตรวจทุก 2 สัปดาห์
ต้องดูกันว่าข้อปฏิบัติและข้อห้ามตามที่วธ.เสนอศบค. แล้วผ่านความเห็นชอบนั้น กองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร และวีดิทัศน์ จะปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดช่วงโควิด-19