นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมในช่วงเวลานี้ ทางชุมชนของ อพท.ในพื้นที่พิเศษ จึงมีการพัฒนาสินค้าเป็นหน้ากากผ้าพื้นเมืองนำมาจัดจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ซื้อใช้หรือซื้อเป็นของฝากผ่านช่องทางการขายแบบออนไลน์ โดยในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่สวยงาม มีลวดลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทางชุมชนได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาดในขณะนี้ เพราะเป็นสินค้าที่ประชาชนยังจำเป็นที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับแนวทางการพัฒนาของ อพท. ดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ชาวบ้านและชุมชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง ซึ่งเป็นที่มาของการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ล่าสุดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคมคำ ตำบลม่วงตื๊ด และกลุ่มทอผ้าบ้านนาซาว จังหวัดน่าน ได้นำผ้ามาออกแบบตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้าอนามัย ด้านนอกเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ด้านในบุด้วยผ้าป่านหรือผ้ามัสลิน ภายใต้คอนเซ็ป หน้ากาก น่าน น่าน สวยงามและถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์พื้นบ้าน เช่น ลวดลายตาโก้งดั้งเดิม ลายตาโก้งผ้าขาวม้า ลายผ้าทอสีพื้น ลายมุก ลายตาไล่ และลายน้ำไหล เป็นต้น พัฒนาสินค้าเป็นหน้ากากผ้าพื้นเมือง ซึ่งกิจกรรมนี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนของอพท. เพื่อเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือภาคประชาชนในชุมชนให้มีรายได้เสริม และยังได้ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดคือหน้ากากอนามัยใช้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ขณะที่เป้าหมายของชุมชน ได้สร้างรายได้เพิ่ม ในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน และยังว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา โดยผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เฟสบุ๊ค บ้านโคมคำ-โคมเมืองน่าน ทั้งนี้ ชุมชนบ้านโคมคำ และชุมชนบ้านนาซาว เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยทาง อพท.ได้เข้าไปส่งเสริม และยกระดับให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนืออีกแห่งหนึ่งตามความสำเร็จในแผนงานการพัฒนาท่องเที่ย โดยชุมชนที่อพท.ผลักดันให้มีศักยภาพและมีความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ โดยเวลานี้ได้เป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้แก่ชุมชนอื่นๆที่สนใจ ส่วนอพท.ทำหน้าที่ส่งเสริมพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เข้าสู่มาตรฐานเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี