คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
กำลังมีข่าวคณะนักวิจัยที่สหรัฐอเมริกาเสนอข้อมูลที่พบว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนานิกายเถรวาทไม่ใช่ภาษามคธ. ที่เข้าใจกันมาตลอดว่า พระพุทธเจ้าใช้พูด (หรือตรัสสอน) ธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพุทธศาสนา แต่ยอมรับว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษาปรากฤต อันเป็นภาษาถิ่นในแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล
มีชาวพุทธบางท่านเห็นว่า เป็นความประสงค์ร้ายของนักวิจัยคณะนั้น ซึ่งต้องการดิสเครดิต (ทำลาย) พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท และมองว่า นักวิจัยคณะนั้นถือข้างพุทธศาสนามหายานสายทิเบต ซึ่งรู้แต่ภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาจารึกพระไตรปิฎกฝ่ายมหายาน
อันที่จริง ผมก็เคยสงสัยเช่นกันว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัส (ในพระไตรปิฎกบาลี) ว่า ห้ามภิกษุยกคำสอนของพระองค์ขึ้นสู่ภาษาสันสกฤต คือห้ามสอนด้วยภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาของคนชั้นสูง (วรรณะพราหมณ์) สมัยนั้น ดูเหมือนจะห้ามการใช้ภาษาที่แต่งเป็นคำฉันท์แบบพราหมณ์อย่างในคัมภีร์พระเวทของลัทธิพราหมณ์ด้วย
ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะภาษาสันสกฤต เป็นภาษาทางวิชาการของคนชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบวช เป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก
ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องการให้เข้าถึงคนทุกวรรณะ โดยเฉพาะให้เป็นที่เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป เมื่อมีภิกษุจากวรรณะพราหมณ์มาบวช ทูลเสนอให้คำสอนของพระพุทธองค์มีมาตรฐานสูงอย่างภาษาสันสกฤต ก็เป็นการขัดแย้งกับพุทธประสงค์ที่ต้องการให้คนทุกวรรณะหันมานับถือแนวทางใหม่
ภูมิภาคที่พระพุทธเจ้าประกาศคำสอน โดยยึดเป็นศูนย์กลางในสมัยพุทธกาลนั้น คือ แคว้นมคธ ซึ่งนอกจากเป็นดินแดนมหาอำนาจทางการปกครองแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมลัทธิใหญ่ๆของยุคสมัยด้วย แต่ละลัทธิสมัยเรียกว่า “ติตถะ” ซึ่งแปลว่า “ท่า” (เข้าใจว่า แต่ละสำนักต่างยึดท่าที่ริมแม่น้ำใหญ่ๆอย่างแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา เป็นต้น เป็นสำนักของตนผู้คนก็เลยเรียกสำนักต่างๆ ด้วยคำว่า “ท่า” นั่นแหละ)
แคว้นมคธในสมัยพุทธกาล มีเมืองราชคฤห์เป็นราชธานี(เมืองหลวง) เห็นจะเป็นเมืองระดับมหานครที่รุ่งเรืองที่สุด และเป็นดองกับแคว้นโกศลด้วย ภูมิภาคส่วนนั้นก็เลยกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมหลายแคว้น เช่น แคว้นอวันตี แคว้นอุชเชนี แคว้นเวสาลี (หรือไพศาลี) เป็นต้น แคว้นเหล่านี้แม้จะมีคนหลายเผ่าพันธุ์ (ชนเผ่า) หลากหลาย แต่ก็ใช้ภาษาร่วมกันในการติดต่อค้าขายกัน ภาษาที่ใช้ร่วมกันเพื่อเข้าใจซึ่งกันและกันได้ในภูมิภาคนั้น คือภาษามคธหรือ “มาคธี”
ภาษามคธหรือมาคธีนั้น เป็นภาษาชาวบ้านทั่วไป อาจจะต่างสำเนียงกันบ้าง แต่ก็เข้าใจกันได้ ภาษาที่ใช้จัดเป็นภาษา “ปรากฤต” มีแต่คำศัพท์ต่างๆ ใช้สื่อสารกัน ไม่มีไวยากรณ์ ไม่มีหลักภาษาเป็นกฎเกณฑ์ ภาษาเช่นนี้ มีอยู่ในทุกประเทศ ตรงกันข้ามกับภาษา “สันสกฤต” (แปลว่าปรุงแต่งดีแล้ว) ซึ่งมีไวยากรณ์ มีความงดงามเป็นภาษาทางศาสนา ซึ่งมีแต่นักบวชใช้กัน
ผมเคยสงสัยว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกก็เป็นภาษาที่มีไวยากรณ์ มีความงดงาม ไม่แพ้ภาษาสันสกฤต เป็น “ตันติภาษา” เหมือนกัน ไม่น่าจะเป็นภาษาถิ่น หรือภาษาปรากฤตของแคว้นมคธน่าจะมีการปรุงแต่งด้วยไวยากรณ์มาอย่างดี
และออกจะเห็นด้วยกับคณะนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลี (หรือภาษามคธที่ปรุงแต่งด้วยไวยากรณ์)
แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษามคธเป็นหลักเสมอในการประกาศคำสอนของพระองค์ในสมัยพุทธกาล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้ภาษามคธ!
คำว่า “ภาษาบาลี” เพิ่งปรากฏในหนังสือ (คัมภีร์) “วิสุทธิมรรค” ของพระพุทธโฆสะ (หรือ พระพุทธโฆสาจารย์) หนังสือของไทยก็แปลกๆ เมื่อใช้กับคัมภีร์ธรรมบท หรือ “ธัมมปทัฏฐกถา” ใช้คำว่า “มคธ” (เช่น “แปล(ภาษา) มคธเป็นไทย” เป็นต้น) ส่วนหนังสือไวยากรณ์ที่แต่งโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ใช้คำว่า “บาลีไวยากรณ์” (แทนที่จะใช้คำว่า “ไวยากรณ์ภาษามคธ”) ทำให้คิดไปว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ คงต้องการให้เข้าใจว่า “บาลีไวยากรณ์” คือหนังสือเรียนไวยากรณ์ในภาษาบาลีในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะ ส่วนภาษามคธ(หรือมาคธี) นั้น ไม่มีไวยากรณ์ให้เรียน
ก็เลยอยากจะพูดว่า ภาษาในพระไตรปิฎก (ของเถรวาท) คือ ภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษามคธ
เป็นภาษาบาลี อย่างภาษาสันสกฤต ไม่ใช่ภาษาพูดอย่างภาษาปรากฤต
ส่วนจะเป็น “ภาษาบาลี” เมื่อไรนั้น ไม่ทราบ เข้าใจว่าน่าจะเป็นภาษาบาลี(หรือภาษามคธมีไวยากรณ์) หลังการสังคายนาครั้งที่ 1 (ปฐมสังคายนา) นั่นกระมัง
เหมือนคณะนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ต้องการจะบอกว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกสร้างไวยากรณ์ขึ้นโดยพระพุทธโฆสะ (เมื่อ 900 ปี เศษหลังพุทธปรินิพพาน?)
ต้องการจะบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลีอย่างในพระไตรปิฎกนั่นแหละ!
เหมือนจะไม่ยอมรับพระไตรปิฎกบาลีหรืออย่างไร?
หรืออยากจะบอกว่า ธรรมะในพระไตรปิฎกบาลีนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ดูเหมือนคณะผู้วิจัยอยากจะพูดว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกนั้น มีขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานนับพันปี? เพราะเขาบอกว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกเป็นภาษาที่ใช้ในการบอกเล่าในหนังสือ (คัมภีร์) อย่างทีปวงศ์,มหาวงศ์ ฯลฯ ของศรีลังกา?
อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคิดว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกมีก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (คือก่อนอย่างน้อย 200 ปี) เพราะแม้แต่พระเจ้าอโศกฯ เองก็ยังเลื่อมใสในคำสอน (อันเป็นภาษาบาลี) ในพระไตรปิฎก
คำจารึกใน “เสาอโศก” ทั้งหลายนั้น แสดงให้เห็นภาษามคธในถิ่นต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นภาษาบาลีในสมัยต่อมา แสดงให้เห็นว่า ภาษาปรากฤตของเผ่าชนต่างๆ ในชมพูทวีปเป็นอย่างไร ได้เห็นรูปร่างของภาษาถิ่นที่ไม่มีไวยากรณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่นักอ่านจารึกก็สามารถเทียบเคียงกับภาษาบาลีได้
เข้าใจว่า ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกสมัยที่ยังไม่ได้ปรุงแต่งด้วยไวยากรณ์ หรือสมัยที่ยังเป็นภาษาปรากฤตนั้น พระพุทธเจ้าพูดอย่างไร เมื่อจะให้เป็นภาษาบาลีมีไวยากรณ์ จะต้องเป็นอย่างไร
แม้ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกจะมาจากภาษามคธ หรือภาษาถิ่นที่ไม่มีไวยากรณ์มาก่อน ผมก็เห็นว่าควรจะเรียกว่า “ภาษาบาลี” (แม้คำว่า “บาลี” จะไม่ใช่ชื่อของภาษาก็ตาม) เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่ใช่ภาษามคธอย่างที่เคยเป็นนั่นเอง
เช่นเดียวกับ “ภาษาไทย” ทุกวันนี้ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาษา เช่น ภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาลาว ฯลฯ และภาษาของชนเผ่าต่างๆ ในแผ่นดินไทย ซ้ำยังมีไวยากรณ์หรือหลักภาษาไทย ปรุงแต่งอีกมากมาย
แม้แต่ภาษาสันสกฤต ก็คิดว่ามาจากภาษาปรากฤตหรือภาษาถิ่นที่ยังไม่มีไวยากรณ์มาก่อน แต่เมื่อได้รับการปรุงแต่งด้วยไวยากรณ์ (เมื่อสักประมาณ 3,000-4,000 ปีมานี่เอง) ภาษาสันสกฤตจึงเป็นตันติภาษาอีกภาษาหนึ่ง
ผมมีความเชื่อว่า นักปรุงแต่งภาษาของชมพูทวีป (ซึ่งเป็นพราหมณ์) มีความสามารถในการสร้างกฎไวยากรณ์ได้อย่างวิจิตรพิสดาร อย่างที่ทำภาษาถิ่นสมัยหนึ่งให้เป็นภาษาสันสกฤตที่มีมาตรฐานสูงภาษาหนึ่ง
ภาษาบาลีในพระไตรปิฎกที่อุดมด้วยไวยากรณ์อย่างภาษาสันสกฤตก็เกิดจากภิกษุทีเป็นพราหมณ์ (จากวรรณพราหมณ์) มาก่อนเป็นแน่ จึงมีคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาบาลี ชื่อ “มูล กัจจายน์” อันแสดงว่า ผู้แต่งคัมภีร์ไวยากรณ์นั้นเป็นพราหมณ์ในตระกูล “กัจจายนะ” นั่นเอง
และมีความเชื่อว่า คำสอนในภาษาบาลีในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคำสอนและเป็นสำนวนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น นักเรียนบาลี สามารถบอกได้ว่า สำนวนภาษาพูดของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร เพราะนักปรุงแต่งภาษาในพระไตรปิฎก (อย่าง “ปาณินิ”) ก็มีศรัทธาในพุทธศาสนาเช่นกัน
ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า แม้แต่พระพุทธโฆสะ ซึ่งเกิดหลังพระพุทธเจ้าเกือบ 1,000 ปี ก็ได้เรียนภาษาบาลีในพระไตรปิฎก ซึ่งอุดมด้วยไวยากรณ์มาก่อน จึงสามารถแต่งคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” ได้งดงามอย่างนั้น!