ชุมชน: แบ่งปันข้ามเขต “ข้าวแลกปลา” อีสานสู่ตะวันออก วิถีพอเพียงแดนใต้
ทุกครั้งที่ประเทศไทยเผชิญภัยวิกฤติใหญ่ คนไทยร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤตินั้นให้ผ่านพ้นไป
อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คนไทยนอกจากพร้อมใจกันปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขแล้ว มุมน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปกิจกรรมต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ร่วมกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
กิจกรรมแลกข้ามเขตเป็นอีกหนึ่งโครงการเดินตามรอยพระราชา ส่งต่อกำลังใจ ร่วมสร้างอัตลักษณ์ไทย มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูล โดยกระทรวงวัฒนธรรมน้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาส่งเสริมบทบาทของพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) ในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีความรัก สามัคคี มีน้ำใจช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกัน มีกับข้าวกับปลาแบ่งปันกันกิน อย่างที่คำโบราณว่า “ข้าวบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” เหล่านี้ยังจะเห็นได้ในสังคมวัฒนธรรม หมู่บ้าน ชุมชนนอกเมืองต่างจังหวัด หรือกับหน่วยงานราชการต่างพื้นที่ด้วยกัน
เช่นที่ภาคตะวันออก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรีร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหาร และของใช้จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันสำหรับอุปโภค/บริโภคระหว่างกัน โดยชุมชนคุณธรรมฯ บ้านบางเสร่ ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ และชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโรงหาด ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแห้ง ปลาหมึกแห้ง ปลากะตะ ปลาหวาน ปลาทูหอม และกะปิ นำไปแลกเปลี่ยนกับข้าวสารพันธุ์หอมมะลิ 105 ของชุมชนคุณธรรมฯ ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 702 กิโลกรัม โดยนัดพบเจอกันครึ่งทางจุดปั๊มน้ำมัน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
จังหวัดจันทบุรี นางสาวปรารถนา มงคลธวัช วัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด จัดกิจกรรมแลกข้ามเขต “พลังบวร แบ่งปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน” ภายใต้โครงการเดินตามรอยพระราชา ฯ ระหว่างชุมชนคุณธรรมฯ วัดบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ นำปลาเค็มมาแลกกับน้ำพริกลูกรังและผักปลอดสารพิษของชุมชนคุณธรรมฯ วัดหนองอ้อ อำเภอมะขาม
นอกจากกิจกรรมแลกข้ามเขตแล้ว ยังพบเห็นการแบ่งปันน้ำใจในหมู่คณะ เช่นที่ภาคใต้ นายณพงศ์ ใบหมาดปันจอ วัฒนธรรมจังหวัดสตูล ลงมือทำขนมพื้นบ้าน โรตี เพื่อแจกจ่ายให้บุคลากรภายในสำนักงานฯ นำกลับไปละศีลอดที่บ้าน และมอบผักบุ้งซึ่งปลูกไว้ในพื้นที่ว่างภายในบริเวณสำนักงาน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง นำกลับไปปรุงอาหารที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายช่วงการแพร่ระบาดของโควิด- 19 สร้างความรัก ความสามัคคี และความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในหมู่คณะ
ด้าน นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ได้ช่วยกันทำโครงการ “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” สู้วิกฤติภัยโควิด-19 เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวมาแบ่งปันกันกิน นำผักบุ้งที่เจริญเติบโตไปแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านนำไปประกอบอาหาร เป็นการช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอชื่นชมและให้กำลังใจวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำนโยบายของกระทรวงลงไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดเป็นวิถีชีวิตสังคมวัฒนธรรม และได้ย้ำเน้นให้วัฒนธรรมจังหวัดชวนผู้นำท้องถิ่นบวร ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน จัดระบบแจกจ่ายอาหารตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข มีระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย รับไปทานที่บ้าน ส่วนถุงยังชีพขอให้เป็นสินค้าวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นการช่วยระบายสินค้าจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนบนวิถีอัตลักษณ์ความเป็นไทย
เป็นอีกมุมหนึ่งของกิจกรรมแลกข้ามเขต “ข้าวแลกปลา” อีสานสู่ตะวันออก และวิถีพอเพียงแดนใต้