กรมส่งเสริมสหกรณ์ หารือผู้เชี่ยวชาญองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน เตรียมหนุนสมาชิกสหกรณ์ปลูกข้าวลดโลกร้อนเพื่อพัฒนาให้ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนางสาวปรานอม จันทร์ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจข้าวของสหกรณ์ ประชุมหารือร่วมกับนายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และนางสาวลัดดา วิริยางกูร ที่ปรึกษาโครงการฯ ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องที่จะพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา โดยมุ่งเป้าปรับเปลี่ยนแนวคิดรูปแบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่การทำนาแบบยั่งยืนที่สามามรถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยจัดอบรมเกษตรกรให้ความรู้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและลดโลกร้อน และมีมาตรการจูงใจสนับสนุนให้เกษตรกร 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานีและสุพรรณบุรี ได้ทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++) สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีในการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่เป้าหมายกำหนด รวมทั้งส่งเสริมการใช้พื้นที่ ทำนาให้สม่ำเสมอ ลดการใช้น้ำ มีการจัดการปริมาณพื้นที่ให้เหมาะสมโดยการใช้เลเซอร์ รวมทั้งวางระบบในการจัดการตอซัง เพื่อลดการเผาทำลาย ซึ่งจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและการเกิดมลพิษ โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี
โอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอแนวคิดในการพัฒนามาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องมีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนให้เกษตรกรได้นำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการปลูกข้าวแบบลดโลกร้อน โดยจะคัดเลือกพื้นที่สหกรณ์ต้นแบบเพื่อเชื่อมโยงกับแปลงสาธิตของโครงการฯ สร้างโมเดลให้เกิดการเรียนรู้ มีกิจกรรมส่งเสริมการผลิตข้าวยั่งยืนและข้าวรักษ์โลก เน้นกลุ่มสมาชิกของสหกรณ์ภาคการเกษตร และนำระบบสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการแปลงข้าว รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ต้นน้ำของการผลิตข้าวยั่งยืนและข้าวรักษ์โลก จัดทำแปลงสาธิต ดำเนินการแบบรวมเป็นกลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกรต้นแบบเป็น ผู้ถ่ายทอดความรู้การปรับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เพื่อให้บริการแก่สมาชิกภายในกลุ่มและพื้นที่ใกล้เคียง 2.กลางน้ำ การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยว มีการเชื่อมโยงและบริการเกี่ยวข้าว จัดการฟางและตอซัง 3.ปลายน้ำ การเชื่อมโยงการตลาด สนับสนุนสหกรณ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าว เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดโดยการจับคู่กับโรงสีและผู้ค้าข้าว
ทั้งนี้ ได้เสนอความเห็นให้คัดเลือกกลุ่มสหกรณ์ที่จะนำร่องก่อน 2 จังหวัด คือ จังหวัดชัยนาท และสุพรรณบุรี ซึ่งจะต้องมีการสร้างความเข้าใจกับสหกรณ์ถึงแนวทางการดำเนินงานให้กับตัวแทนสหกรณ์ เพื่อจะได้กลับไปประชาสัมพันธ์และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและเข้าร่วมโครงการนี้ ผลดีต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรจะเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และมีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่ได้จะมีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตรกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้ร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทยในเวทีโลกด้วย