ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทางฝั่งยุโรปมีการทำพิธีรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครบ 75 ปี ในวันที่ 8 พ.ค. และที่รัสเซียก็มีการทำพิธีเช่นกันในวันที่ 9 พ.ค. ที่วันแตกต่างกัน เพราะเยอรมันได้ยอมแพ้ต่อนายพลไอเซนฮาวร์ ผู้นำกองกำลังพันธมิตรในวันที่ 8 แต่รัสเซียไม่ยอมให้มีการลงนามกันในวันนั้น จนวันรุ่งขึ้นเมื่อตกลงกันได้ว่าต้องมีสหภาพโซเวียต รัสเซียร่วมลงนามด้วย ซึ่งโซเวียตมีสิทธิเต็มที่จะคัดค้านเพื่อให้ตนมีส่วนร่วมลงนาม เพราะโซเวียตเป็นกำลังสำคัญที่ตีขนาบเยอรมันจากตะวันออก และเข้ายึดเบอร์ลิน ศูนย์กลางบริหารของนาซีเยอรมัน ได้ก่อนพันธมิตรเสียอีก บทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและจดจำเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะสงครามในครั้งนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล และกระทบกระเทือนไปทุกทวีป กล่าวโดยสรุปสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มจากการเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เมื่อปีค.ศ.1929 และลุกลามบานปลายไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยก็โดนกระทบพอควรในสมัยรัชกาลที่ 7 จนทำให้ต้องตัดทอนงบประมาณครั้งใหญ่ จนถึงกับต้องปลดข้าราชการออกไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการและประชาชนที่พลอยเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) เศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะค่อยๆฟื้นคืนตัวขึ้นมา แต่ปัญหาของมันสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศก็พยายามจะเอาตัวรอดโดยการกอบโกยทางเศรษฐกิจ และเอารัดเอาเปรียบประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเยอรมัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาปลุกกระแสชาตินิยม และสร้างลัทธินาซีขึ้น ในเมื่อเยอรมันถูกบีบจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ด้วยการยึดครองแคว้นรูห์ ที่อุดมไปด้วยแร่เหล็กและถ่านหิน อันเป็นหัวใจในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถูกควบคุมเส้นทางเดินเรือสินค้าตามแนวแม่น้ำไรน์ และควบคุมเมืองคานซิก อันเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมสำคัญในขณะนั้น และเคยเป็นของปรัสเซีย ซึ่งต่อมาผนวกเข้าเป็นอาณาจักรไรซ์(เยอรมัน) ทางด้านญี่ปุ่นแม้จะเป็นฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็มิได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่ตามที่ต้องการ แม้แต่การขยายกองเรือรบก็ยังถูกอังกฤษและฝรั่งเศสะกดดัน และพยายามควบคุม ในที่สุดสันนิบาตนานาชาติ ซึ่งตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ไม่อาจทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือของนานาชาติได้ เพราะมันกลายเป็นเครื่องมือของผู้ชนะในสงคราม ในการตักตวงผลประโยชน์ จนในที่สุดก็มีอันต้องยุติบทบาทและยุบเลิกไปในที่สุด ย้อนกลับมาเทียบเคียงสถานการณ์ปัจจุบัน สงครามโควิดก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และเป็นวงกว้างนับเป็นการซ้ำเติมสงครามการค้าที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจทรุดตัวไปทั่วโลก แต่ละประเทศก็ย่อมจะดิ้นรนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้ามา โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น และก็จะเป็นชนวนในการเกิดสงครามการค้าขึ้นอีกรอบ ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก เพราะผลิตออกมาเกินความต้องการใช้ แม้ว่ารัสเซียและกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดีอาระเบีย จะตกลงกันได้ในการลดปริมาณการผลิต แต่ผลของการที่เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้การใช้น้ำมันลดลงอย่างมาก จึงมีน้ำมันดิบเหลือจนแทบหาที่เก็บไม่ได้ ทำให้ราคาตกฮวบฮาบ นี่ก็จะมีผลกระทบต่อเปโตรดอลลาร์ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสร้างความเข้มแข็งของดอลลาร์ที่สหรัฐฯนำไปผูกกับการซื้อขายน้ำมันดิบด้วยเงินดอลลาร์ ยิ่งสหรัฐฯมีนโยบาย QE คือ พิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกมาโดยไม่จำกัดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง ค่าเงินดอลลาร์ก็จะยิ่งตกต่ำลงไปอีก ส่วนจีนและพันธมิตรรัสเซีย กับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ (BRICKS) ก็พยายามสร้างการยอมรับเงินในกลุ่มประเทศของตน และกีดกันดอลลาร์ จีนก้าวไปอีกขั้น คือ การออกเงินดิจิทัลที่มีทุนสำรองหนุนหลัง เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ (Digital Economy) แต่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของจีน ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของสหรัฐฯที่ถือว่า จีนได้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจหนึ่งเดียวของตน ยิ่งจีนจับมือกับรัสเซียก็เท่ากับเป็นการผนึกกำลังต่อต้านอำนาจสหรัฐฯ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ และการทหาร เหมือนสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มอักษะ องค์การสหประชาชาตินับวันก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ไม่อาจนำองค์การนี้มาใช้ประโยชน์ส่วนตนได้ ทั้งนี้สหรัฐฯค้างชำระค่าบำรุงเป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่เป็นสมาชิกก่อตั้ง เมื่อขาดเงินบำรุง สหประชาชาติก็คงต้องลดบทบาทลงไปอีกมาก แม้จะไม่ถึงขั้นยุติบทบาทเหมือนสันนิบาตนานาชาติ ขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับโควิด จีนก็มีการซ้อมรบใหญ่ทางทะเล เพราะสหรัฐฯได้ส่งกองเรือไปคุกคามในแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ อีกด้านก็ส่งกองเรือไปคุกคามอิหร่านแถบอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ท่าทีที่แสดงความรังเกียจเชื้อชาติของทรัมป์ที่แสดงออกด้วยการเหยียบหยามนักข่าวอเมริกันเชื้อชาติจีนในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อ 2-3 วันนี้ ก็เหมือนท่าทีของฮิตเลอร์ที่เหยียดเชื้อชาติยิว แต่คราวนี้ผู้บงการที่จะก่อให้เกิดสงครามเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่อีกครั้ง กลับเป็นกลุ่มยิวไซออนิสต์ ที่คุมเศรษฐกิจ การเมือง และสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ ที่ดำเนินการยุยงให้เกิดกระแสชาตินิยมเหยียดผิวในสหรัฐฯ อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้สหรัฐฯเข้าสู่สงครามในที่สุด กระแสของการเหยียดผิวและเชื้อชาติ โดยเฉพาะชาวจีนนี่มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ และเกิดในยุโรปด้วย ทำให้คนเอเชียอื่นๆก็พลอยโดนหางเลขไปตามๆกัน ทั้งนี้กระแสดังกล่าวเกิดจากการกล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการเผยแพร่โรคโควิดที่เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ความจริงของการเกิดจะเป็นอย่างไร ยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีทฤษฎีสมคบคิดอยู่หลายแนวทาง อย่างไรก็ตามสหรัฐฯโดยทรัมป์ได้กล่าวหาในที่สาธารณะแล้วว่าจีนเป็นตัวก่อเหตุ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ท่าทีของทรัมป์เป็นการขานรับจากการที่สื่อเยอรมันได้นำเสนอแนวคิดนี้เป็นการกระตุ้นรัฐบาลเยอรมนี และรัฐบาลอื่นๆในยุโรป ในขณะที่รัฐมิสซูรีได้ยื่นฟ้องรัฐบาลจีนต่อศาลในสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากจีนเช่นกัน เรื่องนี้คงไม่ยุติแค่นี้ แต่คงมีการนำเรื่องไปฟ้องศาลโลก ซึ่งจีนก็คงไม่ยอมรับในเรื่องนี้แน่นอน และศาลโลกก็ทำอะไรไม่ได้ หากจีนไม่ยินยอมให้ศาลโลกตัดสิน แต่มันจะเป็นชนวนและขยายผลในความขัดแย้งให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้การค้าต่อรองกับจีน สหรัฐฯเองก็มองว่าถ้าปล่อยให้จีนเติบโตมากขึ้นกว่านี้ ตนเองก็คงเอาไม่อยู่ จึงอาจตัดสินใจเปิดเกมเร็ว ถ้าพันธมิตรยุโรปเอาด้วย สำหรับประเทศไทยถ้าเกิดสงครามจริง เราจะทำอย่างไร ควรต้องเร่งระดมสมองศึกษาพิจารณาสถานการณ์โลก และปรับแผนกับนโยบายที่จะยืนอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์ต่างๆ ตั้งแต่โควิด เศรษฐกิจและสงคราม ถ้าจะมองอย่างสั้นๆ เราคงต้องเร่งสร้างศักยภาพในการผลิตอาหารที่จะสามารถเลี้ยงประชาชนได้ในยามสงคราม หากไม่เกิดสงครามก็ยังขายสินค้าเหล่านั้นได้ เพราะอย่างไรเสียคนต้องกิน ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีสูงอย่างไร แต่การดำเนินการต้องมีแผนงานที่ชาญฉลาดครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่เอาแต่พูดหรือทำแบบตีหัวเข้าบ้าน โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนข้นแค้นอย่างในปัจจุบัน