ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ในขณะที่ชีวิตของโลกเหมือนว่ากำลังล่มสลายลงไปต่อหน้าเหมือนอย่างในเวลานี้...วิกฤตของวิกฤติทำให้เราตีบตันในการดิ้นรนหาทางรอด จิตวิญญาณอันเคยแผ่กว้างของมวลมนุษย์กลับถึงคราหดสั้นเข้าอย่างมืดมนและเจ็บปวด...มนุษย์ในแต่ละเผ่าพันธุ์ของโลกล้วนต่างต้องเผชิญกับแก่นแกนของปัญหาอันรุกเร้าที่รุกทำลายโครงสร้างทางปัญญาญาณให้แหลกสลายไปอย่างยับเยิน...ความหยิ่งทะนงทั้งหลายทั้งปวงถูกลดคุณค่าลงจากความไม่รู้ในวิธีการที่จะขยับเขยื้อนต่อการแก้ไขปมปัญหาต่างๆนานา..เราต่างมีชีวิตอยู่กับความเป็นศูนย์ในความหวัง เป็นความสูญเสียจิตศรัทธาอย่างไร้ค่า เป็นความน่าละอายที่แทบจะหาต้นสายปลายเหตุไม่เจอ...เหตุดั่งนี้เราจึงต้องใคร่ครวญถึงวิถีทางรอดกันอีกครั้ง เป็นความใหม่ในการสืบค้นจากโลกแห่งความหมายเก่าอันน่ารำพึง...และนี่อาจเป็นที่มาของสรวงสวรรค์ทางความคิดที่เราจะบรรจบกับทางเลือกใหม่ของการอยู่รอดดีงาม จริงจัง และเป็นความหวัง.. ณ วันนี้” ผมย้อนกลับมาอ่าน “Utopia”..ยูโทเปีย:มหานครในฝัน..อีกครั้งและอีกครั้งในยามที่ชีวิตต้องถูกกักตัวอย่างปิดตายและหดหู่..มันคือสิ่งที่ความฝันของเราไม่สามารถไปได้ถึง แม้จะพยายามเข้าถึงมันด้วยการเรียนรู้และใช้วิจารณญาณด้วยการใคร่ครวญต่อมันสักเพียงใดก็ตาม...ผ่านโลกแห่งความจริงอันเนิ่นนาน การตีความต่อสรรพสิ่งอันเป็นรากเหง้าแห่งเจตจำนงของหนังสือเล่มนี้ก็ย้อนแย้งต่อปฏิกิริยาแห่งยุคสมัยเพิ่มขึ้นทุกขณะ บางทีมันอาจเป็นปีศาจที่เชื่อมโลกต่อโลกด้วยปริศนาอันวกวนด้วยคำตอบอันกำกวมและไม่แน่ชัดในเป้าประสงค์เลย...แม้เมื่อใด “จงรับใช้พระเจ้าก่อน...แล้วจึงรับใช้กษัตริย์” นั่นเป็นคำกล่าวสำคัญที่ปรากฏออกมาจากความคิดของ “เซอร์โธมัส มอร์” (Sir Thomas More)ในฐานะผู้ประพันธ์ที่มีชีวิตอยู่คาบเกี่ยวในสองรัชสมัยแห่งพระเจ้าเฮนรี่ที่ 7 และ ที่ 8 แห่งราชวงศ์อังกฤษ..ใจความสำคัญแห่งประพันธกรรมของเขาในเรื่องนี้...มุ่งเน้นจุดหมายในเชิงวิพากษ์ไปที่สภาวการณ์แห่งปรารถนาที่จำเป็นต้องมีนครในฝันขึ้นมาบนโลกนี้เพื่อจะค้ำยันชีวิตมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปเบื้องหน้าได้อย่างมั่นคง มั่นใจ และ สง่างาม.. “ยูโทเปีย...เมืองที่มีแต่ความดีงาม ความยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีประชากรที่เป็นมิตร เป็นเสมือนสังคมในอุดมคติของใครหลายๆคน ทั้งด้านการปกครอง กฎหมาย การจัดระเบียบทางสังคม ทุกอย่างล้วนถูกกำหนดกฎเกณฑ์”...ไว้อย่างมีระเบียบแบบแผนขนาดที่เรียกได้ว่า "สมบูรณ์แบบ” หากแต่ไม่มีใครรู้ตำแหน่งที่ตั้งของยูโทเปีย...หรือเคยเดินทางเข้าไปในเมืองแห่งนี้เลย มีเพียงแต่คำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังกันมาเท่านั้น” ปฐมบทแห่งการพรรณนาถึง “ยูโทเปีย”...ตรงส่วนนี้ถือเป็นการเปิดเปลือยถึงปรารถนาของผู้คนในยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ที่ความรุ่งเรืองในมิติของความเป็นมนุษย์เริ่มอุบัติขึ้น..ด้วยศรัทธาต่อความเป็นปัจเจกในความหมายที่มีค่าต่อสถานะของมนุษย์ รวมทั้งวิถีอันขยายกว้างของลัทธิมนุษยนิยมที่สรรเสริญความเป็นตัวตนให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น...ทรรศนะความเชื่อเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าตกอยู่ระหว่างความก้ำกึ่งของจิตวิญญาณมนุษย์กับโครงสร้างของศรัทธาที่อิงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์..สังคมในสมัยนั้นเริ่มสถาปนาแหล่งของการเรียนรู้ในฐานะมหาวิทยาลัย...มีกลุ่มคนที่เรียกว่ากลุ่ม “University Wits”...อันหมายถึงกลุ่มนักคิดที่เริ่มเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นชุดแรกๆ...กลุ่มผู้สร้างสรรค์แนวทางชีวิตที่เป็นชีวิต ผ่านนัยของความเป็นการละครที่ระบุถึงภาพสะท้อนอันลึกซึ้งและรอบด้านของความเป็นมนุษย์...เช่นเดียวกับโครงสร้างชีวิตของ “วิลเลียม เชคสเปียร์” ที่ได้สร้างกลไกทางความคิดในยุคสมัยนั้นมากมายผ่านเรื่องราวของตัวละครที่ต้องทำให้โลกต้องทั้งเรียนรู้และจดจำเพื่อการตีความสู่การเดินทางสายใหม่ในวงจรชีวิตของมนุษยโลก...และสำหรับ “Utopia”..เซอร์โธมัส มอร์ได้ระบุถึงบุคคลที่มีคุณลักษณะพิเศษอันเป็นข้อยกเว้น..บุคคลผู้สามารถก้าวข้ามผ่านวิถีแห่งความเป็นสามัญ..เพื่อเดินทางเข้าไปสู่ดินแดนในฝันที่โลกสมควรจารจารึกได้.... “....ยกเว้นเสียแต่” ราฟาเอล นักปราชญ์สูงวัยผู้รักการเดินทาง ผู้ซึ่งเคยไปเยือนเมืองยูโทเปีย และเคยได้อาศัยอยู่ที่นั่นมาก่อน..” เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับยูโทเปียที่ได้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้นั้น...ได้รับการบอกเล่าโดยราฟาเอล ผ่านการเขียนของ “เซอร์โธมัส มอร์” ขุนนางในราชวงศ์อังกฤษ ผู้ซึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของยูโทเปียที่เขาได้รับฟังทั้งหมด แล้วเรียบเรียงเป็นหนังสือ และนำเผยแพร่สู่สาธารณชน “ยูโทเปีย” จะเป็นเมืองที่มีอยู่จริง หรือเป็นเมืองในฝัน.. นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องพินิจพิจารณาจากการอ่าน รสสัมผัส ความดิ่งลึกต่อความเชื่อ กระทั่งสามามารถตัดสินความดีงาม จริงลวง ด้วยตัวของเราทุกคนเอง... “ยูโทเปีย”..ถูกนำเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1516...504 ปีมาแล้ว นับเป็นตำนานของโลกที่ให้นิยามของคำๆนี้เป็นครั้งแรกในโลก...ความหมายอันตรงตัวที่แท้จริงให้ความหมายถึงว่ามันคือ..ความ ไม่เป็นที่ใด” และนับจากหนังสือเล่มได้รับการสัมผัสเรียนรู้จนแพร่หลาย...คำๆนี้จึงถูกใช้อธิบายถึงดินแดนที่มีแต่ความสมบูรณ์แบบ ผู้คนอยู่ดีกินดี มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ว่ากันว่า..บริบทในการประพันธ์ “Utopia” ของ “โธมัส มอร์”...บังเกิดขึ้นโดยแท้จริงจากแรงขับในชีวิตของการได้มองเห็น...ความยากแค้นของประชาชน ความไม่เท่าเทียมกันของขุนนางกับชาวนา ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนจากรัฐไปเจรจาการค้าที่แฟลนเดอร์ หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลสแห่งเนเธอร์แลนด์ขึ้นภาษีขนสัตว์ในอัตราที่สูงลิ่ว...ระหว่างการเดินทางโธมัส มอร์เกิดแรงบันดาลใจนึกถึงหนังสือ “รีพับลิค” (Republic)ของเพลโต... หนังสือที่ว่าด้วยการปกครองที่ดี และเมื่อได้มีการย้อนนึกถึงความทุกข์ยากของชาวอังกฤษในเวลานั้น...โธมัส มอร์จึงเขียนถึงสังคมในอุดมคติขึ้นมาในชื่อ “ยูโทเปีย” นี้..โดยมุ่งหวังที่จะให้เป็นวรรณกรรมเชิงเสียดสีความเลวร้ายและความโง่เขลาของสังคมในยุคนั้น ซึ่งอยู่ในสมัยการปกครองของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ที่สภาวะของผู้คนในบ้านเมืองล้วนต่างตกอยู่ในความเครียดและเบื่อหน่ายต่อการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่เต็มไปด้วยจริตอันบ้าคลั่ง รวมทั้งความเบื่อหน่ายต่อระบบการเมืองที่เปราะบางจากกลุ่มการเมืองที่เอาแต่มุ่งต่อรองเพื่ออำนาจให้แก่หมู่พวกของตน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งๆที่อยู่ในสถานการณ์อันวิกฤติ เหตุนี้แนวคิดเชิงอุดมคติเกี่ยวกับโลกอันสมบูรณ์...จึงเป็นสิ่งที่โธมัส มอร์...ให้ความมุ่งมั่นและใส่ใจเป็นอย่างยิ่งขณะที่เขาดำรงสถานะและบทบาททางสังคมคนสำคัญ ณ เวลานั้น.. ทั้งในนามของนักปรัชญาทางด้านมานุษยวิทยานิยมในยุคต้นและนักคิดนักเขียนนัยทางความคิดที่ล้ำสมัย..เขาเขียนงานออกมาด้วยภาษาละตินและต่อมาได้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย “ราล์ฟ โรบินสัน” โดยส่วนตัว “โธมัส มอร์”..เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดจนได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญ.. เป็นนักการเมืองมือสะอาด...แต่เขาก็ต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกประหารจากการถูกตัดศีรษะ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมปีค.ศ. 1535...ด้วยข้อหาสร้างความขัดแย้งทางการเมืองกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8.. “ถ้าการสนุกสนานกับชีวิตเป็นสิ่งเลวร้าย หรืออีกนัยหนึ่งคือมีประสบการณ์อันรื่นรมย์ คุณก็ไม่ควรช่วยให้ใครทำแบบนั้น แต่ควรจะช่วยเหลือมวลมนุษยชาติทั้งหมดจากชะตากรรมอันน่าหวาดกลัวนั้น หรือถ้ามันเป็นสิ่งดีสำหรับผู้อื่น และคุณก็เพียงได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องทำเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับพวกเขา...ก็ทำไมการกุศลไม่ควรเริ่มต้นที่บ้านล่ะ...ในเมื่อคุณมีหน้าที่ต่อตัวเองเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว และถ้าธรรมชาติบอกว่าคุณต้องมีเมตตาต่อคนอื่น ท่านก็พลิกกลับเป็นบอกว่าคุณต้องโหดร้ายกับตัวเองอีกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พวกยูโทเปียมองว่าความเพลิดเพลินในชีวิต ซึ่งก็คือความรื่นรมย์ ในเมื่อเป็นจุดมุ่งหมายของความพยายามตามธรรมชาติ ของความพยายามทั้งหมดของมนุษย์ และธรรมชาติ-อย่างที่พวกเขาจำกัดความกัน-ก็มีความหมายอย่างเดียวกับความดีงาม...หากถึงกระนั้นธรรมชาติก็ยังต้องการให้เราช่วยเหลือกันและกันให้ได้รื่นรมย์กับชีวิต ในเมื่อมีเหตุผลที่ดีมากกว่า จึงไม่ควรมีมนุษย์คนใดผูกขาดความรักของท่าน...ท่านกังวลกับสวัสดิภาพของสมาชิกทุกคนของเผ่าพันธุ์..ด้วยเหตุนั้น แน่นอน ท่านบอกเราให้แน่ใจว่า..เราจะไม่แสวงหาความพึงพอใจของเรา โดยมีผู้อื่นเป็นเดิมพัน” จากหลักการนี้.. “โธมัส มอร์” ได้ชี้ให้เห็นว่า..สำหรับผู้ยึดถือปฏิบัติมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่จะรักษาสัญญาในชีวิตส่วนตัว และทั้งยังเป็นการเคารพกฎหมายควบคุมการกระจายผลิตผล..ซึ่งในที่นี้มันหมายถึงวัตถุดิบสำหรับความรื่นเริง...ตราบใดที่ผู้นำที่ชาญฉลาดเป็นผู้สร้างกฎหมายนั้นขึ้นมาอย่างเหมาะสม หรือเป็นกฎหมายที่ร่างโดยความยินยอมของประชาชนทั้งหมด ที่ไม่เคยต้องพบกับความรุนแรงและการหลอกลวงไม่ว่าจะในรูปแบบใด... ภายใต้ข้อจำกัดนี้ พวกเขาบอกว่าสมเหตุผลแล้ว..ที่จะพิจารณาผลประโยชน์ของตัวเอง และเป็นหน้าที่ที่จะปรึกษาคนอื่นในชุมชนด้วยเช่นกัน “การกีดกันคนอื่นไม่ให้ได้รับความรื่นเริงเพื่อคุณจะได้เสียเอง..นั้นเป็นสิ่งที่ผิด แต่การกีดกันตัวเองไม่ให้ได้รับความรื่นรมย์เพื่อที่จะได้ไปเพิ่มความสนุกสนานให้คนอื่นเป็นการกระทำที่มีมนุษยธรรมซึ่งคุณจะได้มากกว่าเสีย เหตุหนึ่งนั้นก็เพราะผลประโยชน์นั้นมักตอบแทนในลักษณะเดียวกัน อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพียงความรู้สึกที่ว่าได้ให้ความเมตตาแก่ใครสักคน และได้รับความรักและความหวังดีจากเขาเป็นสิ่งตอบแทนนั้น ได้สร้างความพึงพอใจในทางจิตวิญญาณที่มีค่ากว่าทางกายมากมายนัก และท้ายที่สุดความเชื่อที่คนเคร่งศาสนาเชื่อได้ง่ายคือพระเจ้า ...จะทรงให้รางวัลอย่างสมบูรณ์ตลอดกาลแก่เราสำหรับการเสียสละความสุขเล็กๆน้อยๆเพียงชั่วครั้งชั่วคราว พวกเขาบอกว่า ด้วยเหตุนั้นบทสรุปคือความรื่นรมย์ คือความสุขสูงสุดในความคิดมนุษย์ แม้แต่ในเวลาที่พวกเขาปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องที่สุดก็ตาม...” มีคำกล่าวเชิงวิพากษ์ถึงสถานะแห่งยูโทเปีย..ที่ชวนขบคิดเอาไว้ว่า..มันจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ย่อมต้องขึ้นอยู่กับโอกาสหรือความบังเอิญ ในโลกแห่งความจริงนั้น มาตรการต่างๆ ของยูโทเปียไม่ใช่ไม่มีทางเป็นไปได้ หากแต่มันยากยิ่งที่จะเป็นไป.. แต่อะไรเล่าคือตัวหน่วงรั้งที่ทำให้สังคม “ยูโทเปีย” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในโลกแห่งกาลเลาอันยาวนานของเรา...หนึ่งนั้นคือความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอุดมการณ์อันมุ่งมั่นจริงจังที่ถูกหวั่นเกรงว่ามันคือเลือดเนื้อของอำนาจนิยมในเชิงเผด็จการเต็มรูป ส่วนอีกหนึ่งนั้นคือลัทธิที่ถูกเปรียบดั่งภาวะ “เขียนเสือให้วัวกลัว” นั่นคือคราบร่างแห่งความเป็น “คอมมิวนิสต์”...ทั้งสองมายาคตินี้ได้กลายเป็นตราบาปแห่งความขลาดกลัวของโลกแห่งชีวิตต่อเนื่องกันมาเช่นนี้ในหลายศตวรรษที่ล่วงผ่าน... การกลับมาอ่านและพูดถึงหนังสือเล่มนี้ในเชิงวิพากษ์กันอีกครั้ง ณ ห้วงขณะนี้ ถือเป็นการทบทวนและลอกคราบความคิดที่ติดยึดอยู่กับอะไรบางสิ่งในความคลุมเครือต่อสภาวการณ์แห่งการเมืองการปกครองของโลกกว้าง และบีบแคบเข้ามาถึงเนื้อในแห่งความเป็นประเทศชาติบ้านเมืองของเราที่กำลังหลงทิศหลงทาง และหาจุดบรรจบอันน่ายกย่องและสื่อถึงศรัทธาไม่เจอ...มันคือห้วงภวังค์ของความสับสนบ้าคลั่งและไร้หนทางแห่งแสงสว่างทางพุทธิปัญญา...นอกจากผลลัพธ์แห่งวิกฤติในวิกฤติที่ยากจะสมานแผลจากการเยียวยาทั้งด้วยวิธีการและขบวนการใดๆ ผมกลับมาอ่าน “ยูโทเปีย” ฉบับแปลในครั้งนี้ผ่านการแปลของ “กุลธิดา บุณยะกุล-ดันนากิ้น”..หลังจากที่อ่านจากการแปลดั้งเดิมของอาจารย์ “สมบัติ จันทรวงศ์” มาหลายครั้งก่อนหน้านี้...คุณค่าแห่งเจตจำนงของงานแปลทั้งสองนั้นสื่อถึงมิติอันทรงคุณค่าไม่ผิดกัน..มันดึงเราในฐานะผู้อ่านให้ว่ายวนอยู่กับปริศนาทางความคิดที่โหมซัดเหตุผลแห่งศรัทธาใส่กันอย่างไม่มีวันจบสิ้น..กระทั่งกลายเป็นบาดแผลลึกของการตีความเพื่อที่จะจดจำ...ในอีกครั้งและอีกครั้ง... “เวลาที่ผมเปรียบเทียบยูโทเปียกับประเทศทุนนิยมหลายๆประเทศ ซึ่งออกกฎใหม่ๆมาตลอดเวลา แต่ไม่เคยจัดระเบียบได้จริงๆเลย..เป็นสิ่งซึ่งมีกฎหมายใหม่ๆมาทุกวัน แต่ก็ยังไม่มากพอจะประกันได้ว่า คนคนหนึ่งจะหาเงินหรือเก็บเงินหรือระบุทรัพย์สินของตัวเองได้เลย หรือทำไมจึงมีกฎหมายผ่านออกมาไม่มีจนจบสิ้น เวลาที่ผมพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ผมยิ่งรู้สึกเห็นใจเพลโต และไม่แปลกใจเลยที่เขาปฏิเสธที่จะออกกฎหมายให้กับเมือง ซึ่งปฏิเสธหลักการของความเสมอภาคของมนุษย์”