เมื่อวันที่ 13 พ.ค.63 สำนักข่าว บีบีซีไทย ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักใจกลางกรุงลอนดอน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในตอนหนึ่งเมื่อถูกถามถึงการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ของไทย นายทักษิณได้ระบุว่า ขอชื่นชมไทยว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เขาเชื่อว่านั่นเป็นเพราะระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว "ผมเป็นห่วงเรื่องการตรวจ เพราะถ้าเราตรวจน้อย เราพบน้อยแน่นอน แต่การตรวจก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง สามารถใช้ทฤษฎีเรื่องการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มได้" เขาบอกว่าเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด สอบถามที่ปรึกษา นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา จนเชื่อว่าเขาเข้าใจเชื้อโรคและการระบาดนี้ได้ดีพอควร เขาเห็นผู้นำหลายชาติในโลก "ไม่เข้าใจเชื้อโรคนี้อย่างแท้จริง" จึงแก้ปัญหาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหากเขาได้มีโอกาสแก้ปัญหาประเทศตอนนี้ก็จะ "ไม่ล็อกดาวน์" อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเผชิญวิกฤตการระบาดของไข้หวัดนกในช่วงปี 2547-2548 บอกว่าได้ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดนกและโรคซาร์สที่เคยระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2546 และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แล้ว เขาเชื่อว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ร้ายแรงมากไปกว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นจึงมองมาตรการล็อกดาวน์กับการเพิ่มระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย และหากมีอำนาจเขาจะ "คลายเรื่องของการล็อกดาวน์ทันที" "เรามาดูทั้งโลกติด (โรคโควิด-19) แล้ว 3 ล้านกว่าคน จากประชากรโลก 7 พันล้านคน…ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก… เรากำลังเอาเปอร์เซ็นต์ต่ำนี้มาแลกกับเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อคนโดยเฉพาะ ในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีแรงอุดหนุนอะไรมากมาย ถามว่าคุ้มไหม ผมว่าไม่คุ้ม…คนข้างล่างเขาจะถามว่าถ้าไม่ติดโคโรนา ถ้าอดตายละ…ทั่วโลกนี่ต้องคิดว่ายังมีคนที่ไม่มีเงินออมและมีหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก จะให้เขาเสียสละอย่างไร"