"รองโฆษก สตช."เผยไม่เปลี่ยนตัวพนักงานสอบคดีครูข่มขืน 2 นักเรียนหญิง จ.บุรีรัมย์ หลังพบนามสกุลเดียวกันกับผู้ต้องหา ระบุแค่นามสกุลคล้องจองเท่านั้นไม่ได้เป็นญาติกัน ชี้ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ขณะที่"ยูนิเซฟ"ประณามเหตุข่มขืนนักเรียน ชี้ไทยล้มเหลวในการคุ้มครองเด็ก จากกรณีเด็กนักเรียนหญิง 2 คน ศึกษาในระดับ ม.4 และม.2 ถูกครู 5 คน และศิษย์เก่า 2 คน ข่มขืนนานนับปี กระทั่งยายของนักเรียนชั้น ม.2 ได้พาหลานเข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.ผึ่งแดด จ.มุกดาหาร ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากผิดจรรยาบรรณร้ายแรง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.63 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานสอบสวนในคดีครูและศิลย์เก่าข่มขืนนักเรียนชั้น ม.2 ใน จ.มุกดาหาร ที่มีนามสกุลเหมือนกัน ทำให้สังคมเกิดความกังวลในเรื่องความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย ว่า จากการตรวจสอบยืนยันว่าพนักงานสอบสวนคนดังกล่าวไม่ได้เป็นญาติหรือเพื่อนกับผู้ต้องหาแต่อย่างใด เป็นการบังเอิญที่นามสกุลเหมือนกัน และยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องเปลี่ยนพนักงานสอบสวน ต่อให้เป็นนามสกุลเดียวกันแต่หากมีการเอื้อประโยชน์ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง จะต้องมีการดำเนินคดีทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นคดีนี้หรือคดีอื่นการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนก็จะต้องตรงไปตรงมา ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย อีกทั้งเรื่องนี้เป็นที่สนใจของสังคม ที่ผ่านมาตำรวจมีการแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาทั้ง 7 คน แต่ละข้อหามีอัตราโทษสูงถึง 10 ปี การดำเนินการต่างๆไม่ว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็อยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 84 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาที่มีนามสกุลเหมือนกับตำรวจรู้ความเคลื่อนไหวของพนักงานสอบสวนนั้น เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนตรงไปตรงมาตลอด จึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหารู้ขั้นตอนของกฎหมาย จึงมีการไปมอบตัวต่อตำรวจ วันเดียวกัน "ยูนิเซฟ" ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี และ 16 ปี ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.มุกดาหาร ถูกครูและศิษย์เก่าผู้ต้องสงสัยข่มขืนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการเพื่อปรับปรุงการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนโดยด่วน ไม่ควรมีเด็กคนใดควรต้องเผชิญกับความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด หรือสถานที่ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน ซึ่งควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โรงเรียนต้องเป็นที่ ๆ เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง และเป็นที่ ๆ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ เติบโต ตลอดจนพัฒนาทักษะและความมั่นใจในการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต"หนึ่งในหน้าที่และจริยธรรมพื้นฐานที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา คือการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนทุกคน โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการติดตาม เฝ้าระวัง และสังเกตสัญญาณที่บ่งชี้เหตุรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการถูกละเลยทอดทิ้ง ตลอดจนรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ครูยังมีหน้าที่ปกป้องนักเรียนจากอันตรายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอันตรายที่กระทำโดยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันเอง ยูนิเซฟชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการติดตามกรณีนี้อย่างจริงจัง และเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามกระบวนการจะนำไปสู่การจัดการที่เหมาะสมกับกรณีการละเมิดเด็กอย่างรุนแรงเช่นนี้ โดยยูนิเซฟจะคอยติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก