นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น และรัฐบาลได้ผ่อนปรนการเปิดสถานประกอบการหรือกิจการบางประเภทเฟสแรก เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์มาตรการและแนวทางการเตรียมความพร้อมเปิดกิจการหรือการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งทางทีเส็บได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนด้านอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ประกอบกิจการและสถานที่สาธารณะกรณีผ่อนผันการดำเนินกิจการ
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลในการดูแลด้านสุขอนามัยของประชาชน และเริ่มมาตรการผ่อนปรนการดำเนินธุรกิจ ทางทีเส็บ จึงได้จับมือกับสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ร่วมพัฒนาและจัดทำแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines) สถานที่จัดงาน ผู้จัดงานประชุม นิทรรศการ และงานอีเวนต์ เพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่ออื่นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ภายในประเทศทั่วทุกภูมิภาคได้ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมในการกลับมาจัดงานไมซ์อีกครั้ง เมื่อได้รับการผ่อนปรนให้ดำเนินกิจการได้ตามพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยยังคงมาตรการความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมงานตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
โดยเน้น 5 มาตรการควบคุมหลัก ดังนี้ 1.จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ (จำนวน 1 คนต่อพื้นที่ 2 ตารางเมตร) 2. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย (ต้องมีระบบดูแล ส่งต่อ และติดตามผู้ป่วย เช่น การใช้ Application) 3.การเว้นระยะห่างในสถานประกอบการ เช่น สถานที่จัดงาน อย่าง ห้องประชุม บันไดเลื่อน ห้องน้ำ ห้องอาหาร เป็นต้น 4.ระบบติดตามผู้ใช้บริการ (Tracking system) ในกรณีผู้ใช้บริการป่วย หลังจากมาใช้บริการในสถานประกอบการ 5.จัดระบบคิว โดยแยกพื้นที่รอก่อนใช้บริการ
ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ กล่าวต่อว่า แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ จะครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน โดยแนวปฏิบัติก่อนเริ่มงาน ครอบคลุมด้านการเตรียมความพร้อมของพนักงาน การจัดการเดินทางระหว่างงาน การจัดตั้งจุดคัดกรอง และการจัดทำคู่มือสื่อสารผู้เกี่ยวข้องกับงาน เช่น จำนวนคนที่รวมกลุ่มในการจัดงาน คำแนะนำและแนวทางในการทำกิจกรรมขนาดใหญ่ การจัดทำคู่มือและวีดีโอคำแนะนำการปฏิบัติตัวด้านสุขอนามัยให้กับผู้เข้าร่วมงาน การนำส่ง Self-Screening Application หรือเว็บไซต์คัดกรองตนเองให้ผู้ร่วมงานตอบกลับภายใน 24 ชั่วโมงก่อนงานเริ่ม เป็นต้น
ส่วนแนวปฏิบัติระหว่างงาน มุ่งเน้นมาตรการด้านความปลอดภัยสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยลดความเสี่ยง เช่น จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่เพื่อลดจุดสัมผัส การทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ จุดลงทะเบียนและการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจควรใช้ระบบ QR Code และกระจายให้เพียงพอต่อผู้ร่วมงานเพื่อลดความแออัด
ขณะที่ในส่วนการจัดประชุมสัมมนา จะต้องมีการจัดแผนผังของห้องให้มีระบบอากาศถ่ายเทสะดวก จัดที่นั่งเว้นระยะห่างทางกายภาพไม่ต่ำกว่า 2 เมตร วางไมโครโฟนไว้ตามจุดต่างๆ และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลทำความสะอาดทุกครั้งที่มีผู้ใช้งาน ในกรณีที่มีวิทยากรเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศมา ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้าอบรมด้วยการชี้แจงมาตรการควบคุมป้องกันโรค และอำนวยความสะดวกให้แก่วิทยากรเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค เช่น บริการรถรับส่ง หรือเลือกที่พักใกล้สถานที่จัดประชุม เป็นต้น
สำหรับการจัดนิทรรศการ ควรนำเทคโนโลยีในการจองคิวล่วงหน้ามาใช้จองรอบเข้าดูนิทรรศการแต่ละบูธเพื่อลดความแออัด หรือนำเทคโนโลยีการจัดงานเสมือนจริง (Virtual Exhibition) มาใช้งานสร้างประสบการณ์ของผู้ร่วมงานระหว่างรอคิวเข้าชมนิทรรศการ และสร้างแพลทฟอร์มออนไลน์ (Online Platform) ให้สามารถจองหรือสั่งซื้อสินค้าภายในงานได้ทันที
พร้อมกันนี้ยังมีแนวปฏิบัติหลังจบงาน ที่ผู้จัดงานจะต้องตรวจสอบประกาศคําสั่งและข้อกําหนดที่ได้จากรัฐและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เรื่องการจัดทํารายงานผลการจัดงานชี้แจงต่อหน่วยงานที่อนุญาตให้จัดงาน และจัดระบบการจัดการขยะมูลฝอยให้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
ในเวลานี้ทางทีเส็บ ได้จับมือกับสมาคมโรงแรมไทยจัดทำแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Venue Hygiene Guidelines) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไมซ์และเผยแพร่แนวปฏิบัติไปยังสมาชิกโรงแรมทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง