นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมข้อมูลการทำงานเหลื่อมเวลาในส่วนของภาครัฐ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ได้รายงานว่า ในส่วนหน่วยงานราชการได้ทำเรื่องเหลื่อมเวลาเป็นส่วนใหญ่ ในเวลา 08.00 น. และ07.00 น. ซึ่งนายกฯ สั่งการเพิ่มเติมให้เหลื่อมมากกว่านี้ จะเลิกค่ำอะไรก็ได้ เพื่อลดความแออัดในการเดินทาง ส่วนจะเป็นกี่ชั่วโมงนั้น ให้หน่วยงานนั้น ๆ เป็นผู้พิจารณา ขณะที่มาตรการ ทำงานที่บ้านั้นปฏิบัติกันแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะงานเอกสารสามารถทำงานที่บ้านได้ แต่งานด้านบริการประชาชนตามสำนักงานเขตไม่สามารถทำที่บ้านได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะที่ในส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้น มีทั้งสิ้น 56 แห่ง เขาทำเรื่องเหลื่อมเวลากัน 7 เวลา ตั้งแต่ 07.00 -10.00 น. โดยเหลื่อมกันช่วงละครึ่งชั่วโมง คนที่เข้า10.00 น.จะไปเลิก18.00 น. อีกทั้งมีรายงานว่า หน่วยงานที่ทำงานที่บ้านเกิน 80 เปอร์เซ็นต์นั้น มีจำนวนไม่น้อย เช่นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน),การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,การกีฬาแห่งประเทศไทย แต่กลุ่มที่ปฏิบัติได้ไม่มาก จะเป็นกลุ่มธนาคาร ที่ต้องให้บริการประชาชน “นายกฯ บอกว่ามาตรดังกล่าวให้ดำเนินต่อไป และให้ไปดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่นประสิทธิภาพการทำงาน ว่าดีหรือไม่ เช่นสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา รายงานเข้ามาว่า การทำงานที่บ้านได้ผลดี งานออกมาเร็ว คล้ายกับว่านั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ แล้วสมาธิไม่ดี แต่ถ้าทำงานที่เขาทำงานกันเสร็จเร็ว อีกทั้งให้ผู้บังคับบัญชากวดขัด อย่าลักไก่ หายไปเลย ให้สามารถติดต่อได้เสมอ และนายกฯให้ใช้แนวนี้ต่อไป” นายวิษณุ กล่าว เมื่อถามว่า หากแนวทางการทำงานที่บ้าน มีประสิทธิภาพกว่าทำที่ออฟฟิศ จะพิจารณาให้ปฏิบัติต่อไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ให้ใช้แนวทางนี้ต่อไป สำหรับแนวทางนิวนอลมอล หรือ ชีวิตวิถีใหม่ เพราะการทำงานที่บ้านเราบอกกันมาเป็นปีแล้ว แต่ไม่มีแรงจูงใจ แต่ตอนนี้มีปัจจัย เพราะบางคนมีเวลาไปส่งลูกโรงเรียน ไม่ต้องแออัดบนรถไฟฟ้า และมาตรการเว้นระยะห่าง เป็นตัวช่วยให้กดดันให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ขณะที่ภาคเอกชน ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว เราจะเริ่มรณรงค์ผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่นกระทรวงการคลัง หากกิจการใดต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ควรรับเงื่อนไขนี้ไปด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขยายไปกิจกรรมใดบ้างนั้น เรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการที่จะพิจารณา โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เป็นประธาน และมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ตนไม่ได้เป็นกรรมการในชุดดังกล่าว เพียงแต่เมื่อจะผ่อนปรนอะไร เขาจะส่งมาให้ตนเป็นผู้เขียนคำสั่ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีส่งอะไรเข้ามา ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรตนยังไม่ทราบ