แม้มีป่วยสะสมแล้วกว่า 200 ราย เน้นผู้ป่วยปลอดภัย พยาบาลต้องปลอดภัยด้วย อุปกรณ์ป้องกันพร้อม ทักษะการดูแลเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจ
12 พ.ค.2563 กระทรวงสาธารณสุข นางสุทธิพร เทรูยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล สถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยถึงการดำเนินการของพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า เนื่องจากสถาบันบำราศนราดูรเป็นหน่วยงานหลักในการรับผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่จึงได้มีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เตรียมทักษะในการใช้เครื่องมือรักษาผู้ป่วยหนัก หรือการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งยังเตรียมร่างกายบุคลากรให้แข็งแรงควบคู่กับการเตรียมจิตใจให้เข้มแข็งและพร้อมรับผู้ป่วยอยู่เสมอ ซึ่งในช่วงแรกที่รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นชาวต่างชาติจากสนามบิน พยาบาลจำเป็นต้องคิดและวางแผนตั้งแต่ต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรตั้งแต่การไปรับผู้ป่วยที่สนามบินเพื่อให้มาถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย พยาบาลต้องใส่ชุดป้องกันสูงสุด และเตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลรองรับอย่างเข้มข้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมชุดป้องกันร่างกายให้พยาบาลและแพทย์อย่างเพียงพอต้องคำนวณว่า 1 วันใช้อุปกรณ์อะไร เท่าไหร่เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ
การทำงานของพยาบาล สถาบันบำราศนราดูรนั้น จะประเมินสถานการณ์และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เนื่องจากต้องยึดตามสถานการณ์การระบาด โดยยึดหลัก 2 ข้อ คือ ผู้ป่วยต้องปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อของผู้ป่วยสู่ภายนอก และพยาบาลก็ต้องปลอดภัย ไม่ป่วย ไม่นำเชื้อไปแพร่ต่อผู้ป่วยคนอื่นๆ เมื่อรับผู้ป่วยมาแล้ว ต้องแยกใช้ลิฟต์เฉพาะผู้ป่วยและจัดให้พักรักษาตัวแยกตึก โดยกรณีรับครั้งแรกแม้ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวดีแต่เนื่องจากในขณะนั้นเป็นโรคที่เกิดใหม่ และมีปัญหาด้านการสื่อสาร และต้องรับการรักษานาน ก็เกิดความกังวลว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน ประกอบกับต้องวิเคราะห์และปรับการดูแลผู้ป่วย และเมื่อมีการระบาดต่อเนื่อง ก็ต้องปรับการจัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอในการใช้งานนาน 3 เดือน ต้องปรับแผนอีกครั้งเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนถึงเดือน มี.ค.โดยเข้ามารับบริการถึงวันละประมาณ 600 คน พยาบาลจึงต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตระหนก และกลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์ ตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อแยกการตรวจคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.จนถึงขณะนี้สถาบันบำราศนราดูร มีผู้เข้ารับบริการ 14,327 คน ผู้สงสัยติดเชื้อ 5,062 คน ผู้ป่วยยืนยัน 214 คน รักษาหาย 210 คน เสียชีวิต 4 คน นอกจากอัตราการรักษาหายที่มีจำนวนมากแล้ว อัตราติดเชื้อของบุคลากรในสถาบันบำราศนราดูรยังเป็นศูนย์อีกด้วย
ด้าน ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล กล่าวว่า จากข้อมูลบุคลากรทางสาธารณสุขติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมสะสม 103 คน โดยร้อยละ 40% เป็นพยาบาล และในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งติดเชื้อจากการบริการพยาบาลส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ใช้บริการไม่เปิดเผยประวัติเสี่ยง และอีกส่วนหนึ่งติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ติดเชื้อนั้นเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขเอง แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ล่าสุดพบบุคลากรมางการแพทย์และสาธารณสุขลดลง เพราะประชาชนให้ความร่วมมือในการเปิดเผยประวัติการเดินทางและความเสี่ยงต่างๆ
สำหรับการจัดพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 จะคำนึงถึงอาการ ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย โดย 1.กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงมาก จะดูแลโดยพยาบาลผู้ป่วยหนัก วิสัญญีพยาบาล พยาบาลอายุรกรรม 2.กลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางและผู้ป่วยอาการรุนแรงน้อย จะดูแลโดยพยาบาลอายุรกรรม และพยาบาลของสาขาอื่นๆ 3.กลุ่มผู้มารับบริการคัดกรองการติดเชื้อที่โรงพยาบาล จะใช้พยาบาลผู้ป่วยนอก ส่วนการคัดกรองในชุมชน จะเป็นพยาบาลชุมชน พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลจิตเวช โดยทุกโรงพยาบาลจะมีพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ดูแลระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากร พยาบาล และประชาชน