เชิงสารคดี: พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็น 2 พระราชพิธีรวมกัน
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ จะประกอบพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่มณฑลพิธีสนามหลวง
ตามข้อมูลประวัติพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาแต่โบราณครั้งกรุงสุโขทัย ในสมัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่จะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน จะมอบผู้แทนพระองค์เป็นประธานพิธี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้นพระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา ได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า
“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมนิยม มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาว่างเว้น ด้วยการซึ่งผู้นั้นเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและหาทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจโดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.2479 จากนั้นเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงามไว้ ทรงให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปี เป็นการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทยผู้มีอาชีพทำนาข้าว
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพระยาแรกนา พระโคเสี่ยงทาย เชิญเทวดามาปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน และมีเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ รวม 40 ชนิด ปลูกงอกได้ทั้งสิ้น เช่น จำพวกถั่วงา เป็นต้น มีเทพีคู่หาบทองและคู่หาบเงิน ฯลฯ มีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบพระราชพิธี (พระราชประสงค์ รัชกาลที่ 9) เมื่อพระราชพิธีเสร็จ ชาวบ้านเข้ามาแย่งกันเก็บเมล็ดข้าวเปลือกไปบูชา หรือนำโปรยลงในนาของตน เพื่อหวังให้ได้ผลผลิตข้าวงอกงามมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งทางการจะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนั้น และให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย
สำหรับวันพืชมงคล ปี พ.ศ.2563 ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีมาตรการและข้อปฏิบัติทางสาธารณสุขหลายประการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค จึงได้งดจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
หมายเหตุ: คัดจากเรื่องและภาพ “ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” และที่มาแหล่งอื่นๆ, เรียบเรียง