นับเป็นปรากฏการณ์ “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” โดยแท้ กับเรื่องวุ่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐเวลานี้ โดยศูนย์รวมของปัญหาอยู่ที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตมไม่เพียงแต่ถูกส.ส.พลังประชารัฐจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไร้คุณสมบัติในการเป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์กับลูกพรรคในด้านต่างๆ จนไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ยังถูกหลายๆ ภาคส่วนมองว่าขาดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะการบริหารจัดการตามมาตรการเยียวยา 5 พันบาทให้แก่ผู้ได้ร้บผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบต่อรัฐบาลอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น “การทำงานของรัฐบาลในการป้องกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสามารถกำหนดมาตรการป้องกันเอาชนะเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีพอสมควร เพราะจนถึงปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลงตามลำดับ ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ทั้งในส่วนการเยียวยาผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และ โครงการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีการลงทะเบียนเพิ่มเติม ทบทวนสิทธิ ตรวจสอบสิทธิ ขอหลักฐานเพิ่มติม อีกหลายขั้นตอน ทั้งที่ความเดือดร้อนของประชาชนได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ถือว่าเป็นการทำงานที่ล่าช้าสอบไม่ผ่าน ต้องปรับปรุงการทำงานใหม่ จึงอยากจะเรียนต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลสอบผ่านการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ขอชื่นชมและให้กำลังใจ แต่สอบตกในเรื่องการเยียวยาประชาชนผู้เดือดร้อน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในครั้งนี้อย่างน่าเสียดาย”เสียงสะท้อนจากนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล นอกเหนือจากประเด็นความรู้ความสามารถแล้ว นายอุตตมยังต้องเผชิญกับ “กรรมเก่า”จนถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง โดยเป็นกรรมเก่าตั้งแต่สมัยครั้งรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในขณะนั้นนายอุตตมร่วมเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ที่ได้มีการระดมทุนจากต่างประเทศจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปแบบของ “บัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว” และได้คัดเลือกให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรเงินฝากฯดังกล่าว ต่อมาได้มีการตั้งข้อสงสัยในสัญญาที่มีการทำระหว่างเอสอีแบงก์และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์ได้ยอมรับเงื่อนไขเพิ่มเติมของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ที่กำหนดให้ต้องมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของบัตรเงินฝากดังกล่าว ไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ซึ่งครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงในการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยที่มาจากการเก็งกำไรด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้รับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยจากอัตราคงที่ 6.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตลอดอายุบัตรเงินฝากดังกล่าวที่มีเวลา 5 ปี มาเป็นแบบขั้นบันได คือจ่ายดอกเบี้ยปีแรกในอัตรา 3.75 เปอร์เซ็นต์ ปีที่สองและปีที่สามอัตรา 4.25 เปอร์เซ็นต์ ปีที่สี่และปีที่ห้าอัตรา 8.8 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 6.02 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าอัตราเดิมที่กำหนดไว้ 0.38 เปอร์เซ็นต์ จากเงื่อนไขในสัญญาที่ว่านี้ ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเป็นอย่างมาก เพราะมีการทำข้อตกลงกันไว้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงคือ อัตราดอกเบี้ยประเภทระยะเวลา 6 เดือนในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารที่กรุงลอนดอนสูงหรือต่ำกว่ากรอบที่เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ตกลงกันไว้ ทางเอสเอ็มอีแบงก์ต้องจ่ายเบี้ยปรับให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์สูงถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่มีการออกบัตรเงินฝากฯดังกล่าว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลพวงจากเงื่อนไขสัญญาซึ่งมีการทำเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาเพียงในช่วงข้ามปี หลังอัตราดอกเบี้ยที่เอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เห็นชอบในการอ้างอิงได้ลดระดับต่ำกว่ากรอบที่ทำข้อตกลงกันไว้ ซึ่งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ได้แจ้งเรียกเก็บเบี้ยปรับจากเอสเอ็มอีแบงก์ประมาณ 6 พันล้านบาท แต่ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้ปฏิเสธการจ่าย ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดฯยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้เอสเอ็มอีแบงก์จ่ายเบี้ยปรับในจำนวนตามที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แจ้งต่อเอสเอ็มอีแบงก์ ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในปี 2558 โดย ทางเอสเอ็มอีแบงก์ได้ต่อสู้คดีด้วยการอ้างอิงพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์จำนวนหนึ่งซึ่งได้ถูกไล่ออก และยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบเอาผิดแล้วนั้น มีพฤติกรรมทุจริตและปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของบัตรเงินฝากฯดังกล่าวของเอสเอ็มอีแบงก์ จนทำให้บอร์ดสำคัญผิดในสาระสำคัญ ส่งผลให้นิติกรรมที่เอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เป็นโมฆะ จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบชำระเบี้ยปรับให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แต่มาในชั้นอุทธรณ์ ศาลได้กลับคำตัดสินโดยให้เอสเอ็มอีแบงก์ชดใช้เบี้ยปรับให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์จำนวน 6 พันล้านบาท จากคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์เท่ากับหมายความว่า นิติกรรมที่เอสเอ็มอีแบงก์ทำไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์มีข้อผูกพันตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอสเอ็มอีแบงก์มูลค่ามหาศาลหลายพันล้านบาท และล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ของเอสเอ็มอีแบงก์ไม่กี่คนที่ถูกตัดตอนให้รับผิดชอบแล้ว ทางบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ซึ่งมีนายอุตตมร่วมอยู่ด้วยควรจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับนิติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ทั้งจากกรรมเก่าในอดีต และผลงานในปัจจุบัน จึงเท่ากับว่านายอุตตมไม่ต่างอะไรกับ “จุดบอด”ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยิ่งนายอุตตมอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนานเท่าไร รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็อยู่ยากขึ้นเท่านั้น