งานวิจัยรร.สามเสนวิทยาลัย และรร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ได้รางวัลชนะเลิศ โครงการด้านวิทยาศาสตร์โดยการสนับสนุนของนาซา ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ สำนักงานใหญ่โครงการ GLOBE ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแล สนับสนุนขององค์การนาซา (NASA) ได้จัดงานประชุมวิชาการเสมือนจริงระดับนานาชาติ ด้านวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ โดยสนับสนุนให้นักเรียนทั่วโลกส่งผลงานวิจัยเข้ามาประกวดเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานวิจัยทั้ง 2 การประกวด คือ 2020 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS 2020) และ2020 International Virtual Science Symposium ZIKA PROJECT (ZIKA IVSS project 2020) ผลปรากฎว่าปีนี้งานวิจัยของเด็กไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ถึง 2 งานวิจัย ประกอบด้วย การประกวด 2020 GLOBE International Virtual Science Symposium (IVSS 2020) มีผลงานวิจัยที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 263 เรื่อง จาก 29 ประเทศทั่วโลก นักเรียนไทยจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด ในหัวข้อวิจัย เรื่อง ความเชื่อทางศาสนามีผลต่อแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เกาะสมุย ประเทศไทย โดยสำรวจด้วยภาพถ่ายจากโดรน(Drone) และการสำรวจโดยใช้ GLOBE Observer: Habitat Mapping App (Faith-based Communities Affecting Breeding Sites of Mosquito Larvae at Samui Island, Thailand using Drone imagery and GLOBE Observer: Habitat Mapping App) คณะผู้วิจัยคือ นางสาววริศรา เกียรติยศเจริญ, นางสาวปารมิตา แสงห้าว และ นางสาวรินรดา มีแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ นางกรกมล กำเนิดกาญจน์ และ ดร.วรรณวิภา สุทธเกียรติ สำหรับการประกวด 2020 International Virtual Science Symposium ZIKA PROJECT (ZIKA IVSS project 2020) ในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 32 งานวิจัย จาก 10ประเทศ ของ 3 ภูมิภาคคือ แอฟริกา เอเชียแปซิฟิค และละตินอเมริกาและแคริบเบียน ผลปรากฎว่านักเรียนไทยจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง คว้ารางวัลชนะเลิศได้รับรางวัลจากการประกวด ในหัวข้อวิจัยเรื่อง นิเวศวิทยาของลูกน้ำยุงในพื้นที่ที่แตกต่างกันบริเวณหาดราชมงคล จังหวัดตรัง หรือ Mosquito Larvae diversity and abundance relation to land cover in coastal area in Trang Province Thailand คณะผู้วิจัยคือ เด็กหญิงปิยาพัชร เพชรหิน, เด็กชายสุรยุทธ คงจันทร์ และ เด็กหญิงกัลยกร ทองส่งโสม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง โดยมีนางพัชรา พงศ์มานะวุฒิ เป็นครูที่ปรึกษา