รอชมแทนดาวหาง “แอตลาส” ที่แตกไปแล้วได้ 23-29 พ.ค.นี้ แต่ขึ้นกับทัศนวิสัยท้องฟ้าด้วย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ดาวหาง SWAN” ดาวหางดวงใหม่ที่ค้นพบในช่วงโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวออสเตรเลีย ไมเคิล มัตตีอัซโซ (Michael Mattiazzo) ค้นพบ #ดาวหางสวอน หรือ C/2020 F8 (SWAN) หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้เขาไม่สามารถไปทำงานได้ เขาได้นั่งวิเคราะห์ภาพถ่ายจากข้อมูลภาพจากกล้อง Solar Wind Anisotropies (SWAN) ที่ติดตั้งบนยานโซโห (Solar and Heliospheric Observatory : SOHO) หลังจากถูกค้นพบได้ไม่นาน ความสว่างของดาวหางดวงนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลกต่างเฝ้าติดตาม #ดาวหางสวอน เนื่องจากพบว่าค่าอันดับความสว่างของดาวหางดวงนี้อยู่ที่ระดับ 8 ซึ่งความสว่างระดับนี้สามารถมองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ได้ จนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นรายงานว่าดาวหางดวงนี้สว่างขึ้นจนมีค่าอันดับความสว่างประมาณ 5 (สว่างขึ้นประมาณ 16 เท่า) ทำให้สามารถสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กได้แล้ว และอีกไม่นานคาดว่าค่าอันดับความสว่างจะเพิ่มขึ้นไปจนถึง 3.5 ซึ่งเป็นค่าอันดับความสว่างที่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้านั้นแปรผกผันกับความสว่าง ยิ่งมีค่าเลขน้อยวัตถุยิ่งสว่างมาก) ในช่วงแรกของการค้นพบ #ดาวหางสวอน พบว่าปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปลาทางใต้ (Piscis Austrinus) ทำให้ผู้ที่อยู่ในซีกฟ้าเหนือไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น ภาพดาวหางส่วนใหญ่ที่ปรากฏในตอนนี้จึงเป็นภาพจากนักดาราศาสตร์ที่อยู่ในซีกฟ้าใต้ทั้งหมด แต่ดาวหางสวอนกำลังมุ่งขึ้นไปยังซีกฟ้าเหนือ โดยจะผ่านกลุ่มดาวเซตุส (Cetus) กลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) กลุ่มดาวสามเหลี่ยม (Triangulum) และกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) สำหรับชาวไทยที่สนใจรอชม #ดาวหางสวอน ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้คือ ช่วงวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2563 โดยจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าดาวหางจะมีความสว่างมาก เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 25 องศา แต่การสังเกตการณ์ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยของท้องฟ้าด้วย เพราะช่วงเวลาที่ดาวหางปรากฏบนซีกฟ้าเหนือ มีมุมเงยสูงจากเส้นขอบฟ้าประมาณ 10 องศา นอกจากมีแสงสนธยาที่จะบดบังความสว่างของดาวหางแล้วหากมีภูเขาหรือมีเมฆบังจะไม่สามารถมองเห็นดาวหางสวอนได้ เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. ------------------------------ อ้างอิง [1] https://minorplanetcenter.net/mpec/K20/K20G94.html [2] https://www.universetoday.com/…/comet-y4-atlas-breaks-up-e…/ [3] https://cobs.si/recent [4] http://www.aerith.net/comet/catalog/2020F8/2020F8.html [5] https://www.abc.net.au/…/coronavirus-restrictions-…/12181100”