ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: นำรูปภาพจำลองโมเดลห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ไปพลางๆ ก่อนชมห้องจัดแสดงของจริง นัยว่าทันสมัยทัดเทียมพิพิธภัณฑ์ศิลปะสากล ภายในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กำลังดำเนินการภายใต้โครงพัฒนาห้องจัดแสดงใหม่ เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 19 โดยนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้ประกอบพิธีบวงสรวงภายในพื้นที่ติดตั้งนิทรรศการเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
ตามข้อมูลอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น สร้างขึ้นในบริเวณพระที่นั่งบวรบริวัติ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) อันเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นอาคารจัดแสดงประติมากรรมสมัยต่างๆ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารจัดแสดงแห่งนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2510
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา นิทรรศการภายในอาคารหลังนี้จัดแสดงตามรูปแบบประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคแรกสร้างเท่านั้น ต่อมากระทรวงวัฒนธรรมโดยกรมศิลปากรริเริ่มโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวังหน้า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเพื่ออนุรักษ์อาคารโบราณสถาน พัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ทั้งด้านหน้าเนื้อหาวิชาการที่มีความก้าวหน้า มีรูปแบบการจัดแสดงที่ทันสมัยทัดเทียมพิพิธภัณฑ์สากลในปัจจุบัน อาคารหลังนี้จึงถูกบรรจุในแผนงานพัฒนาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาถึงปี 2563 เป็นงานพัฒนาระยะสุดท้าย
“เมื่องานแล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนนักท่องเที่ยวเข้าชมห้องจัดแสดงใหม่ทั้งอาคารในปี 2564 ภายใต้หัวเรื่องนิทรรศการดังกล่าว” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว
จากข้อมูล ร่ายให้เห็นภาพห้องจัดแสดงใหม่ทั้งหมด นำเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์โบราณคดี ผ่านการจัดวางโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ และรับมอบจากส่วนราชการต่างๆ ในประเทศไทย รวมจำนวนกว่า 1,000 รายการ โดยมีรูปแบบการจัดวางแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ผู้ชมได้เห็นรูปลักษณ์รอบด้าน หรือ 360 องศา พร้อมศิลปะการจัดแสงเงา สื่อมัลติมีเดียประกอบการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก มีระบบควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสภาพโบราณวัตถุให้มั่นคงอยู่เบื้องหลังจัดแสดงแต่ละห้อง
ภายในพื้นที่ 2,800 ตารางเมตร ลำดับเนื้อหาตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ดังนี้
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา นำเสนอเรื่องราวของรัฐสำคัญทางภาคเหนือ ทั้งด้านกลุ่มชน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนา และศิลปกรรม ที่เจริญอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 – 21 และสืบต่อมาถึงสมัยนครเชียงใหม่ หัวเมืองทางภาคเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูปสกุลเชียงแสน หรือสิงห์ ที่มีเอกลักษณ์ และมีตำนานจากความศรัทธาของชาวล้านนา ที่แพร่ขยายมาสู่นครรัฐไทยในเวลาต่อมา เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาภาคเหนือและจากการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนภูมิพลในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนเส้นทางการค้า พื้นฐานเศรษฐกิจสำคัญของล้านนา เป็นต้น
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสุโขทัย นำเสนอเรื่องราวความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปกรรม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจไปในทุกนครรัฐไทย จนถึงสมัยปัจจุบัน โบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก พระพุทธปางลีลา อันเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะสุโขทัย ยุคทองแห่งศิลปกรรมในประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีกรุงศรีอยุธยา พื้นที่จัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน จัดวางประจักษ์พยานที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองทุกด้านของกรุงศรีอยุธยา มหาอำนาจแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19 – 24 อันเป็นพื้นฐานโครงสร้างสังคมของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองยุค ห้องแรกนำเสนอเรื่องราวของกรุงธนบุรี การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้มีการฟื้นคืนบ้านเมืองให้มีความสมบูรณ์ด้านต่างๆ เฉกเช่นครั้งกรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 - 3 ห้องที่สองนำเสนอเรื่องการพัฒนาบ้านเมืองเข้าสู่สมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาถึงสมัยปัจจุบัน เป็นจุดเชื่อมเรื่องราวความเจริญทางศิลปกรรมประเพณี ไปสู่นิทรรศการศิลปกรรมไทยประเพณีในอาคารหมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ โรงราชรถ ตำหนักแดง และสถาปัตยกรรมต่างๆ ของวังหน้า
ต้องอดใจสักนิดนึง กับการชมห้องจัดแสดงใหม่อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ในปี 2564