ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ครูไม่ใช่เรือจ้าง แต่เป็นอนุสาวรีย์และปูชนียบุคคลของศิษย์ ผมเข้าโรงเรียนครั้งแรกใน พ.ศ. 2505 ที่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา (แต่ก่อนอยู่ในแขวงดินแดง อำเภอพญาไท ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเขตดินแดง) ตั้งอยู่บนถนนประชาสงเคราะห์ ห่างจากบ้านพักอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางมาประมาณ 4 – 5 กิโลเมตร มีรถเมล์แดงสาย 12 วิ่งผ่าน ค่าโดยสารผู้ใหญ่คนละ 50 สตางค์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที ตอนนั้นผมอายุราว 4 ขวบ พอจำความอะไรได้มากพอสมควร เพราะเป็นช่วงชีวิตที่ตื่นเต้นมากช่วงหนึ่ง ซึ่งพอได้ไปโรงเรียนก็เหมือน “เปลี่ยนชีวิต” ต้องออกจากอ้อมอกผู้ปกครองทางบ้าน ไปสู่การดูแลของคุณครู พร้อมกับเปลี่ยนฉากชีวิตจากที่บ้านเป็นโรงเรียน คุณครูคนแรกของผมชื่อ “ครูปราณี” เพราะเป็นครูประจำชั้นเด็กเล็ก สมัยนั้นเรียกว่าชั้นเตรียมประถม ซึ่งมี 2 ระดับ คือเตรียมประถม 1 กับ เตรียมประถม 2 ครูปราณีเอาใจใส่เด็กๆ ดีมาก เด็กหลายคนยังใส่ชุดนักเรียนไม่เรียบร้อยเพราะไม่เคยชิน ครูปราณีก็ต้องวุ่นแต่งตัวให้เด็กเหล่านี้ทั้งวัน รวมถึงการปัสสาวะและใช้ห้องน้ำนั้นด้วย ครูปราณีสอนให้เด็กคัดลายมือเขียนหนังสือ แบบที่มีเส้นประๆ เป็นตัวเลขตัวอักษรให้เด็กๆ ใช้ดินสอเขียนตาม จึงได้รู้ว่าผมถนัดมือซ้าย ครูปราณีเรียกแม่ผมมาบอกให้หัดลูกให้เขียนมือขวา หลายวันต่อมาแม่มาร้องไห้ที่โรงเรียนบอกว่าหัดไม่ได้ ขอความกรุณาคุณครูให้ลูกเขียนด้วยมือซ้ายต่อไปเถิด ครูปราณีก็ไม่ว่าอะไร แต่แนะให้เขียนโดยเอามือจับดินสอไว้เหนือเส้นบรรทัดเพื่อไม่ให้อุ้งมือลากเลอะเส้นดินสอ (ซึ่งก็เป็นประโยชน์มาจนถึงตอนขึ้นชั้นประถมปลาย เพราะสมัยนั้นยังเขียนด้วยปากกาหมึกซึม ถ้าไม่โค้งมือซ้ายอ้อมเขียนบนเส้นบรรทัดก็จะถูเอาหมึกเปื้อนทั้งมือและหน้ากระดาษนั้นไปด้วย) ที่โรงเรียนผมชอบเล่นกับเด็กผู้หญิง เพราะเด็กผู้ชายตัวโตกว่าผมและชอบรังแกผม ในกลุ่มเรามีอยู่ 3 คน คือ ป้อม เล็ก และผม ป้อมหน้าตาน่ารัก ผิวขาว ส่วนเล็กหน้าคมๆ ไม่เด่นมากนัก ผิวคล้ำ ทั้งสองคนผูกเปียสองข้างหู ป้อมมักจะผูกหางเปียด้วยโบสีขาวทุกวัน ส่วนเล็กจะเปลี่ยนสีโบไปทุกวัน ป้อมพูดเพราะเรียบร้อย ส่วนเล็กเสียงดังและกระโดกกระเดก เราสามคนชอบเล่นตั้งเต หมากเก็บ และเป่ากบ ป้อมมักจะมีขนมมาแจกเราทุกวัน ซึ่งเล็กมักจะแย่งไปกินก่อนเสมอ นั่นคือความทรงจำเกี่ยวกับ “ผู้หญิง” ในวัยเด็กของผม ผมเรียนอยู่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาเพียงปีเดียว เพราะพอจะขึ้นชั้นเตรียมประถม 2 พ่อก็มาแอบพาผมไปเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองม่วง (อย่างที่ได้เขียนถึงมาแล้วเกี่ยวกับ “ย่าจันทร์”) โดย “พาสชั้น” ไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลย จนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วแม่ก็ไปแอบเอาผมกลับมาเรียนที่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยาอีกครั้ง ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลับมาคราวนี้ผมไม่ได้เจอเพื่อนเก่าเมื่อครั้งที่เรียนชั้นเตรียมประถม รวมทั้งป้อมและเล็กนั้นด้วย แต่มาได้เพื่อนใหม่ชื่อ “ขาว” เพื่อนบ้านในล็อค 12 ข ที่อาคารสงเคราะห์ห้วยขวาง (ดังที่ได้เขียนมาก่อนี้ในเรื่อง “เสือขาว”) ผมเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 พร้อมๆ กับที่อาคารสงเคราะห์ถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นแฟลต ผมกับแม่ก็ย้ายไปเช่าบ้านอยู่แถวพระโขนง แล้วก็ไปเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ฉากชีวิตของผมก็เปลี่ยนไปอีกหนึ่งฉาก พร้อมกับตัวแสดงที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ในชื่อที่ผมสมมติให้เป็นตัวแทนของคุณครูทุกคนของผมในช่วงเวลานั้นก็คือ “ครูบุษบา” ครูบุษบาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ โดยได้มาสอนผมใน พ.ศ. 2515 ตอนที่ผมขึ้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 แล้ว ซึ่งพอดีกับที่เด็กผู้ชายในวัยเท่าๆ กันกับผมกำลัง “เปลี่ยนสถานะ” จากเด็กชายเป็นนาย อย่างที่เรียกในยุคนี้ว่า “วัยฮอร์โมนว้าวุ่น” และเนื่องจากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ในตอนนั้นยังเป็นโรงเรียนชายล้วน จึงมีเรื่อง “ห่ามๆ” จนถึงเกือบจะ “หื่นๆ” เกิดขึ้นเป็นปกติ โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์มีแบ่งเป็น 2 โรงเรียน แต่อยู่กันโรงเรียนละสังกัด ถ้าเราไปยืนอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม หันหลังให้คลองแล้วหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถที่ด้านหน้าเป็นลานจอดรถ(เวลาที่มางานศพ) ด้านขวามือของเราหรือทิศตะวันตกจะเป็นโรงเรียนเทศบาลวัดมกุฏกษัตริย์(ปัจจุบันอยู่ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร) ซึ่งเมื่อ 50ปีที่แล้วมีสอนถึงแค่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ส่วนทางซ้ายมือของเราหรือทิศตะวันออกจะเป็นโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ (ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 5 จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์” ที่ยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และในช่วงรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้ปรับเปลี่ยนให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศที่เป็นเอกศึกษา “ชายล้วน หญิงล้วน” ให้เป็นสหศึกษา “ชายและหญิง” ซึ่งโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) บริเวณถนนที่พุ่งจากถนนกรุงเกษมไปยังประตูประอุโบสถนั้นจะแบ่งสนามตรงกลางเป็น 2 ฟากเช่นกัน โดยด้านซ้ายมือหน้าโรงเรียน(มัธยม)วัดมกุฏกษัตริย์จะเป็นลานคอนกรีต แบ่งเป็นสนามบาสเก็ตบอลได้ 2 สนาม และเอาไว้เข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า ส่วนทางด้านขวามือเป็นสนามดินทรายมีหญ้าขึ้นประปราย ใช้เป็นสนามฟุตบอลและแข่งกีฬาอื่นๆ ตลอดจนไว้ฝึก ร.ด.(นักศึกษารักษาดินแดน) ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นลานจอดรถไปทั้งหมดแล้ว ส่วนตัวอาคารเดิมของโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ที่สูง 3 ชั้น ก็ถูกรื้อลงและสร้างขึ้นใหม่เป็น 5 ชั้น และเพิ่งเสร็จเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยยังคงรูปแบบและ “หน้าตาเดิมๆ” ไว้ได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่เป็นโรงเรียนวัด เพื่อนนักเรียนที่ผมรู้จักจึงมี “เด็กวัด” อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องถือว่าเพื่อนเด็กวัดนี้มี “คุณูปการ” แก่ผมมากพอสมควร เพราะเพื่อนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ชีวิตที่ค่อนข้างโชกโชน จากการที่เป็นเด็กต่างจังหวัดและต้องต่อสู้ชีวิตมามากมาย แตกต่างจากเด็กกรุงเทพฯ ที่มีประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ในยุคนั้นจะมี “ตี๋ๆ” หรือลูกครึ่งจีนไทยมาเรียนค่อนข้างมาก เพราะโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ก็เป็น “โรงเรียนดัง” แห่งหนึ่งในสมัยนั้น โดยเทียบระดับได้กับโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ด้วยจำนวน “เด็กเส้นและเด็กฝาก” ที่มีจำนวนมากพอๆ กัน และผมก็เป็นหนึ่งในเด็กฝากของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งต้องใช้วิธีการฝากที่ค่อนข้างพิสดารที่อาจจะไม่มีอีกแล้วในยุคนี้