“สถาปนิกชำนาญการ” สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเผยเตรียมตั้งนั่งร้านงานสถาปัตยกรรมสิ้นเดือนนี้ ศิลปกรรมพระเมรุมาศเน้นสีทองด้วยผ้าทองย่นเป็นหลัก พร้อมจัดทำรายละเอียดลวดลายตามฐานานุศักดิ์ของอาคาร เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 60 นายธีรชาติ วีรยุทธธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ในฐานะสถาปนิกอาคารพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยว่า หลังจากที่ติดตั้งโครงสร้างอาคารพระเมรุมาศแล้วเสร็จ ทางทีมสถาปัตยกรรมจึงได้เริ่มนำชิ้นส่วนที่ได้ทำการขยายแบบที่ส่งให้โรงงานผลิตทยอยนำมาติดตั้งบ้างแล้ว เริ่มจากบริเวณส่วนฐานชาลาที่ได้ทำการขยายแบบเสร็จแล้วทุกชั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างขยายแบบตัวบุษบกประธานพระเมรุมาศ คาดว่าในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะทำการติดตั้งนั่งร้านจนถึงชั้นเชิงกลอนของพระเมรุมาศ เพื่อเตรียมรองรับการติดตั้งสถาปัตยกรรม รวมถึงงานศิลปกรรมประดับตกแต่งพระเมรุมาศที่จะเข้ามาดำเนินการได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุชิ้นส่วนไม้อัด และผ้าทองย่นสีทอง โดยจะดำเนินการตามรูปแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมา นายธีรชาติ กล่าวอีกว่า เนื่องจากการก่อสร้างขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน จึงได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อป้องกันความเสียหาย ทั้งการเลือกใช้วัสดุที่มีความคงทนทั้งแดดและฝน ใช้สีผสม และการแผนป้องกันระหว่างปฏิบัติงาน สำหรับลวดลายศิลปกรรมที่จะใช้ในการประดับพระเมรุมาศครั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการลงรายละเอียดก่อนที่สรุปความชัดเจนเร็วๆ นี้ แต่หลักๆ แล้วในส่วนของลายศิลปกรรมที่เป็นลายมาตรฐานของพระเมรุมาศทรงบุษบก อาทิ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่การดำเนินงานประดับลวดลายนั้นจะใช้ลายที่แสดงถึงฐานานุศักดิ์ โดยจะลดหลั่นตามลักษณะของอาคาร เช่น ลายเฉพาะของบุษบกประธาน ซึ่งเป็นสถานที่รองรับพระโกศพระบรมศพ ซ่างสำหรับพระสวด หอเปลื้องที่สำหรับเก็บพระโกศทองใหญ่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำลายละเอียดของลวดลายทั้งหมด “เมื่อมีการสรุปลวดลายศิลปกรรมที่จะใช้ประดับพระเมรุมาศทั้งหมดแล้ว จะมีการจัดทำรายละเอียดของการใช้ผ้าทองย่นที่จะใช้ในการประดับตกแต่งเป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ จะได้นำประสบการณ์ของการประดับตกแต่งพระเมรุมาศในครั้งที่ผ่านๆ มาใช้เป็นต้นแบบ รวมทั้งปรับแก้ไขในบางส่วน โดยเฉพาะการติดผ้าทองย่นที่จะเกิดปัญหาสีซีดเมื่อเจอแดดเป็นเวลานาน ดังนั้นการประดับในส่วนของผ้าทองย่นน่าจะมีการดำเนินการในช่วงหลังสุด” นายธีรชาติ กล่าว และเสริมอีกว่า งานศิลปกรรมพระเมรุมาศครั้งนี้จะเน้นสีทองเป็นหลัก อาจจะต้องดูสีของผ้าทองย่นสีอื่นๆ ที่ช่วยทำให้สีทองเปล่งปลั่งดูสง่างามมากยิ่งขึ้น สำหรับกระบวนการผลิตในส่วนท้องผ้าทองย่นจะใช้กรรมวิธีผลิตด้วยมือโดยผู้รับจ้างที่มีความชำนาญการเป็นพิเศษ