บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน ‘ตูใช่กวีไกร กวินฯ’ “จิตร ภูมิศักดิ์”เมื่อยามเยาว์ จิตร ภูมิศักดิ์ เดิมชื่อ “สมจิตร” เป็นบุตรชายของนายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ (ฉายาวงศ์) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเมีย พุทธศักราช 2473 ที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ “ภิรมย์” นายศิริ ภูมิศักดิ์ ผู้บิดารับราชการเป็นเสมียนสรรพสามิต สมจิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มเรียนประชาบาลที่ปราจีนบุรี ต่อมาบิดาถูกย้ายไปอยู่จังหวัดกาญจนบุรี สมจิตร ภูมิศักดิ์ เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนสตรีกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2483 บิดาถูกย้ายไปประจำจังหวัดสมุทรปราการ สมจิตร ภูมิศักดิ์ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนชายประจำจังหวัด พ.ศ. 2484 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้พลเมืองไทยใช้ชื่อให้สมกับเพศ สมจิตร ภูมิศักดิ์ จึงต้องเปลี่ยนชื่อ เขาเลือกใช้ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” บิดาจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกย้ายไปทำงานที่จังหวัดพระตะบอง จิตรอาศัยอยู่กับพระที่วัดพิชัยสงคราม(วัดนอก) เรียนหนังสือที่สมุทรปราการจนจบชั้นมัธยมสาม ระหว่างอยู่ที่วัดได้เรียนอักษรขอมเพื่อช่วยพระอาจารย์เขียนตะกรุดและเลขยันต์ จิตรเริ่มมีความรู้พื้นฐานภาษาขอม และพบเห็นพระสงฆ์ทุศีล พ.ศ. 2487 จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมสี่ ที่โรงเรียนประจำจังหวัดพระตะบอง จิตรสัมผัสกับลัทธิชาตินิยม จิตรรับรู้ว่าชาวเขมรต้องการอิสรภาพ และเขาถูกลอบยิงครั้งหนึ่งแต่ปลอดภัย พ.ศ. 2488 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ไทยต้องคืนดินแดนให้ฝรั่งเศส คนไทยต้องอพยพกลับประเทศไทย จิตรมาเข้าเรียนชั้น ม.5 และ ม.6 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2490 ระหว่างนี้ มารดาของจิตรไปประกอบอาชีพตัดเสื้อผ้าที่จังหวัดลพบุรี พบหลักฐานบทกวีที่จิตร ประพันธ์ ชิ้นแรกๆ ชื่อ “อาฆาตานุสรณ์” (พ.ศ.2489) และ “นิราสอพยพ” (พ.ศ.2489) แม้จะอายุเพียงสิบหก แต่ฝีมือการประพันธ์ดีมาก เช่น ๐สหัสสนัยภูวนารถท้าว ทัศนา ใดฤา จัตุพักตร บ เบือนมา สู่พื้น กฤษณนิทรเลอ วา- สุกรีหลับ ฤาพ่อ สองวิโยคโศรกสะอื้น ต่างท้าว ทำเมิน ๐ แสดงว่า จิตรได้อ่านวรรณคดีมามากแล้วและฝึกหัดแต่งกวีมาก่อนหน้า พ.ศ. 2489 แล้วอย่างแน่นอน จิตรมีคุณลักษณะพิเศษที่เมื่อสนใจเรื่องใดแล้ว จะทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ ในช่วงนี้ จิตรเริ่มสนใจค้นคว้าความรู้ด้านอักษรศาสตร์ อักษรโบราณ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี จนสามารถเขียนบทความเรื่อง “กำเนิดลายสือไทย” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “เยาวศัพท์” ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นบทความที่ได้ตีพิมพ์เป็นบทแรกของเขา ช่วงต่อเนื่องระหว่าง พ.ศ. 2490 ถึง 2493 จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าเป็นนักเรียนแผนกอักษรศาสตร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สังกัดกลุ่มสีแสด ช่วงนี้เขาเล่นดนตรีไทยเก่งแล้ว และได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ “กลุ่มสีแสด” เมื่อเรียนอยู่ชั้นเตรียมปีที่สอง พ.ศ. 2493 จิตร ภูมิศักดิ์ สอบไล่ได้ด้วยคะแนน 65 % แล้วเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จิตรได้รับเลือกเป็นหัวหน้านิสิตชั้นปีที่ 1 ช่วงนี้จิตรมีผลงานส่วนใหญ่ในรูปบทกวี ลีลากวีและเนื้อหาทางความคิดยังเดินตามขนบเดิมของกวีไทยโดยทั่วไป ยังไม่มีเนื้อหาทางการเมือง แต่สำหรับด้านวรรณศิลป์นั้น จิตรฉายแววว่าจะเป็นยอดกวีคนหนึ่ง แม้เขาจะเขียนอย่างถ่อมตัวว่า ๐ใดผิดพลาดคณะบาทฤขาดครุลหุหาย ปราชญ์ศรีกวีสาย อภัย ๐ อย่าหยันเย้ยเยาะหะเหย ฤ เปรย ณ หฤทัย ตูใช่กวีไกร กวิน ฯ สรุปลักษณะนิสัยในวัยเยาว์ของจิตร ภูมิศักดิ์ 1.เป็นคนยึดมั่นกับเหตุผล ไม่ยอมลงใครง่ายๆ ถ้าหากผู้นั้นไร้เหตุผล 2.เกลียดการดูถูกคนยากจน 3.ป็นคนช่างสังเกต ช่างจดจำ ชอบอ่านหนังสือ 4.เริ่มสนใจการเมือง ชาตินิยม 5.เริ่มสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เห็นความอดอยากขาดแคลนในชนบท 6.เป็นคนรักษาคำมั่นสัญญา ตรงต่อเวลา