รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล พริก มะละกอ และส้มตำ เมื่อเราคิดถึง “อาหารไทย” เมนูแรกๆ ในความคิด ที่มักจะแนะนำให้ชาวต่างชาติลิ้มลองอย่างภาคภูมิใจดูเหมือนจะขาด “ส้มตำ” ไปไม่ได้ ส้มตำเป็นอาหารไทยหรือเปล่า? คงต้องตอบว่าเป็น เพียงแต่ที่มาของความเป็น “ส้มตำ” อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น หาได้มีต้นกำเนิดถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตประเทศไทยไม่ เพราะวัตถุดิบหลัก 2 อย่าง คือ พริก และ มะละกอ นั้นปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าไม่ใช่พืชพื้นเมือง และเพิ่งได้รับการนำเข้ามาในสยามในราวสมัยอยุธยาเท่านั้น ดังปรากฏข้อมูลในหนังสือ “อาหารไทย มาจากไหน?” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ. 2560) ดังจะคัดมาให้ดูบางส่วน ดังนี้ “พริก มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลางและใต้ คณะสำรวจโลกใหม่ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้พรรณพืชจากทวีปอเมริกากลางและใต้ เช่น พริก และอื่นๆ ไปปลูกที่ยุโรป ราว พ.ศ. 2035 (ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) ชาวสเปนและโปรตุเกส เอาพันธุ์พริกไปปลูกขยายในอินเดียและประเทศใกล้เคียง จนถึงอุษาคเนย์ และไทย ราวหลังเสียกรุงครั้งแรก (พ.ศ. 2112) [บางทีเชื่อกันว่าพริกถึงอยุธยาราว พ.ศ. 2143 (ตรงกับปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ระหว่าง พ.ศ. 2133-2148) แต่เป็นเพียงคาดเดาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันตรงๆ]” ก่อนหน้านั้น พริกในคำไทยจึงหมายถึง “พริกไทย” และเมื่อได้พริกพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศ จึงเรียกกันว่า “พริกเทศ” หรือ “พริกสด” ส่วนมะละกอ เป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกากลาง ที่ถูกค้นพบโดยโคลัมบัสเช่นกัน และนำไปแพร่พันธุ์ในถิ่นต่างๆ ดังข้อมูลว่า “สเปนและโปรตุเกส ต่างก็นำมะละกอมาปลูกในเอเชีย พ.ศ. 2314 ยุคกรุงธนบุรีมีรายงานจากนายลินโซเตน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ว่าคนโปรตุเกสได้นำมะละกอไปปลูกที่มะละกา แล้วไปปลูกที่อินเดีย แต่เอกสารของหมอบรัดเลย์กล่าวว่าสเปนเป็นผู้นำมะละกอเข้ามา หลังจากนั้นได้ขยายไปปลูกที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และไทย” “…แพร่ถึงไทยราวหลังกรุงแตก พ.ศ. 2310 ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือหลัง พ.ศ. 2325 จากนั้นจึงมีส้มตำมะละกอ ในคราวใดคราวหนึ่งก็ได้ ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ ว่าเมื่อไร?” นอกจากนั้น อาหารประเภทเส้น อย่างก๋วยเตี๋ยว ก็แน่ชัดว่าเป็นอาหารของคนจีนที่น่าจะแพร่หลายมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว เช่น ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยวผัดราดหน้า จนกระทั่งมากลายร่างเป็น “ผัดไทย” อย่างที่เรามักนิยามกันว่าเป็น “อาหารไทย” ขึ้นชื่อชนิดหนึ่งในปัจจุบันนั่นเอง หรืออย่างขนมจีน ก็เป็นคำที่มีต้นกำเนิดมาจากภาษามอญ ว่า “คะนอมจิน” โดย คะนอม หมายถึงข้าวเส้น หรือเส้นที่ทำจากแป้ง ส่วนคำว่า จิน แปลว่าสุกแล้ว รวมแล้วคือข้าวเส้นที่ทำให้สุกแล้ว ส่วนคำว่า “ข้าวปุ้น” ที่แปลว่าขนมจีนเช่นเดียวกันเป็นคำในวัฒนธรรมลาว ยืมมาจากคำเวียตนาม ว่า “บู๋น” แปลว่าขนมจีนเช่นกัน ทั้งขนมจีนและข้าวปุ้น ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่อาหารดั้งเดิมของอุษาคเนย์ เพราะการโม่แป้งและการทำเส้นเป็นเทคนิคจากเมืองจีน แต่อาจมีการดัดแปลงและเรียกชื่อต่างๆ กันออกไปตามความนิยมในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า ความเป็นไทยในอาหารไทยนั้นล้วนเต็มไปด้วยความหลากหลาย มีที่มาจากสารพัดแหล่ง ผสมผสานผ่านวันเวลายาวนาน ก่อนจะกลายมาเป็นอาหารไทยอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้