วันนี้(6พ.ค.63)วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด อยากให้เราลองอ่านแนวคิดของคุณบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับระบบการศึกษาของไทย ว่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไรกันบ้างครับ​ เราลองไปติดตามอ่านกันดูครับ รากเหง้าของปัญหาความยากจน วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันแรงงาน ถามว่า ถ้าเราพูดถึงกรรมกร เรานึกถึงอะไร ความยากจน การงานที่หนักแต่ไม่สบายสักที เพราะค่าแรงขั้นต่ำคือสิ่งที่สกัดกั้นไม่ให้เงยหน้า อ้าปากได้ และมันก็เป็นแบบนี้มาเกือบร้อยปีแล้ว เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เมื่อตอนที่ผมเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย พวกเรามีความคิดที่จะแก้ไขปัญหาของสังคม ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาแรงงาน ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามาก แต่การได้คิดได้ทำก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย สมัยนั้นมีเพลงหนึ่งที่ผมฟังแล้ว กินใจผมมาก เพลงนั้นคือเพลงชาวนา ของวงแฮมเมอร์ มีเนื้อเพลงท่อนฮุกว่า “ชาวนา ชาวนา หลังสู้ฟ้า เอาหน้าลงสู้ดิน ชาวนา ชาวนา กำเนิดเกิดมา พอลืมตาก็ยากจน” และท่อนฮุกสุดท้ายของเพลง ลงท้ายว่า “ชาวนา ชาวนา หลังสู้ฟ้า เอาหน้าลงสู้ดิน ชาวนา ชาวนา กำเนิดเกิดมา เมื่อหลับตายังยากจน” คนอื่นฟังแล้วอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่สำหรับผม ผมกลับมาวนเวียนคิดว่าทำไมชาวนาทันทีที่เกิดมา ก็ต้องรับมรดกความยากจนจากพ่อแม่ ซ้ำร้ายตราบาปนี้ยังติดตัวไปจนถึงวันที่ตัวเองสิ้นลม ไม่สามารถดิ้นหลุดจากวงจรความยากจนได้เลย คิดๆแล้วเหมือนชนชั้นวรรณะในอินเดียที่ต้องติดตัวไปตลอดชีวิต แต่ของเรามันไม่ใช่ มันไม่ได้เป็นตราบาปอย่างนั้น แต่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงดิ้นไม่หลุดจากวงจรของความยากจน เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเข้าฝึกพูดต่อหน้าที่ชุมนุมชนเป็นภาษาอังกฤษ ของสโมสร สยามโทสมาสเตอร์ (Siam Toastmaster Club) มีช่วงหนึ่งที่เป็นคำถามแบบไม่ได้เตรียมตัว (Impromptu speech) ผู้ดำเนินรายการถามผมว่า ถ้าผมเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย ผมจะแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างไร วันนั้นผมตอบไปว่าต้องแก้ที่ระบบการศึกษาไทย ต้องให้ทุกคนเชื่อว่าเขาสามารถเป็นอะไรก็ได้ถ้าเขามีแรงบันดาลใจที่มากพอ และต้องให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน วันนั้นผู้ประเมินผลคือคุณเกรียงศักดิ์ พลัสสินทร์ (ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รพ.จุฬารัตน์) ได้กล่าวชื่นชมผมว่า เขาเห็นด้วยในการแก้ ปัญหาของสังคม ต้องแก้ที่ระบบการศึกษา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือระบบคิดของคนในสังคมนั่นเอง ในวาระของวันแรงงานหรือวันกรรมกรปีนี้ เรื่องนี้กลับมาวนเวียนในสมองของผมอีกครั้ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นเวลาที่ผมควรจะกลั่นกรองความรู้ประสบการณ์ของผมมาช่วยแก้ปัญหานี้ และหวังว่าวันหนึ่งจะมีคนเห็นความสำคัญของปัญหาและดำเนินการแก้ไข ต่อไปนี้คือวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยครับ 1. ต้องแก้ที่ทัศนคติ ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องยากจนเหมือนพ่อแม่ ความจนไม่ใช่คำสาป คนไทยจำนวนมากยังมีความเชื่อว่าเขาไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฐจักรความจนได้ เพราะเขามีพ่อแม่ที่ยากจน เขาไม่มีทุนรอน เขาไม่มีโอกาสเหมือนลูกคนรวย ชาตินี้จึงไม่รวยสักที ขณะที่คนอเมริกันได้รับการปลูกฝังว่าเด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นสามารถที่จะเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้ (ดูเหมือนประธานาธิบดีบารัคโอบาม่าก็เป็นประจักษ์พยานพิสูจน์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี) ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับที่นายบิล เกต ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์เคยกล่าวไว้ว่า “มันไม่ใช่ความผิดของคุณที่เกิดมายากจน แต่ถ้าในวันที่คุณจากโลกนี้ไปแล้วยังยากจน นั่นแหละความผิดของคุณ” 2. ต้องมีแรงบันดาลใจ ว่าถ้าเราดิ้นรน เราสามารถร่ำรวยได้ ข้อนี้จะต่างจากข้อแรกคือไม่เพียงแต่ต้องเชื่อแต่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ประสบความสำเร็จด้วย เพราะถ้าเราเชื่อแต่ไม่ลงมือทำ มันจะมีประโยชน์อะไร และจากประวัติของมหาเศรษฐีทั้งบนโลกนี้รวมถึงในประเทศไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ดิ้นรน มาจากฐานะที่ยากจนเสียเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ 3. เราต้องยอมแลกอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ อะไรบ้างที่เราจะต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น เวลา ความเหนื่อยยาก ความอดทน ความสุขสบายในบางช่วง การใช้จ่ายที่ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนคนอื่น ความรู้สึกต่ำต้อยในบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เราต้องยอมแลกในช่วงต้น อย่างน้อยสัก 10 ปีของการสร้างตัว และเมื่อเราถึงจุดที่เราคิดว่าเราสบายขึ้นแล้ว เราถึงผ่อนคลายได้ ไม่ว่าเรื่องเวลา อาหารการกินหรือความสะดวกสบายในชีวิต 4. เราต้องเชื่อว่าเดี๋ยวนี้เรื่องทุนรอน เส้นสาย ฐานะในสังคมไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปแล้ว ในการสร้างตัวให้ประสบความสำเร็จ เดี๋ยวนี้มีช่องทางมากมายที่เราจะแสดงความสามารถของเราให้สังคมได้รับรู้ ขอเพียงเรามีความสามารถ มีผลิตภัณฑ์ที่ดีจริง หรือมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างแท้จริง เมื่อนั้นความสนใจของสังคมจะพุ่งมาที่เรา และพร้อมส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จ มีคนมากมายได้รับโอกาสเพียงเพราะว่า มีคนถ่ายคลิปที่เขาแสดงความสามารถเอาไว้เช่น เด็กรำขอฝน หรือนักคอมพิวเตอร์ที่บังเอิญไปเล่นเปียโนที่สนามบินสำหรับคนรอเครื่องบิน และมีคนถ่ายคลิปเอาไว้แล้วไปลงใน YouTube จนมีแมวมองติดต่อให้แสดงดนตรีจนประสบความสำเร็จมากกว่างานเดิมมาก 5. ต้องพยายามหาโอกาสให้กับตัวเอง อย่ารอให้โอกาสวิ่งเข้ามาชนอย่างเดียว โดยระหว่างนั้นเราต้องฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเรามองเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าเขาทำงานแป๊บเดียวได้เงินเป็นแสนเป็นล้าน ทำไมเราไม่ได้อย่างเขา แต่เราไม่ได้ดูว่าเบื้องหลังเขาเหล่านั้นทุ่มเทฝึกฝนขนาดไหน วันละ 8-10 ชั่วโมงฝึกทุกวันแทบจะไม่มีวันหยุดเลย เป็นเวลานับสิบปี เมื่อเราได้รู้เบื้องหลังการฝึกฝนของเขา เราก็ต้องยอมรับว่าเขาสมควรได้รางวัลนั้นไป แล้วทำไมเราไม่มาฝึกสิ่งที่เราถนัดล่ะ ความเจ็บปวดและเหนื่อยล้าจากการฝึกฝน เดี๋ยวมันก็หายไป แต่ผลงานและความสามารถที่เราพัฒนาขึ้นมาได้ จะยังคงอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่เราก็ต้องพยายามแสดงผลงานในช่องต่างๆเมื่อมีโอกาส เช่น อาสาทำงานเมื่อบริษัทขาดคน เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ เขียนเรื่องราวลงใน Facebook หรือ ทำคลิปลงใน YouTube หรือแม้แต่ลองทำการค้าขายทางออนไลน์ หางานพิเศษทำ ใครจะไปรู้ว่าเราอาจจะทำงานนั้นได้ดีและประสบความสำเร็จอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ 6. เราต้องทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทุ่มเทอย่างจริงจัง 10 ปีนี้ เราดิ้นรนจากสถานะยากจนขึ้นมาอยู่ในสถานะที่อยู่ดีกินดีได้ เหมือนกับว่าวที่ลอยขึ้นไปจนติดลมบนแล้วมันสามารถลอยได้ตลอด แต่ถ้าคุณอยากจะผลักดันตัวเองขึ้นเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี นั่นก็อยู่ที่ว่าคุณจะยอมแลกทำงานหนักเพิ่มขึ้นไปอีกหรือเปล่า ส่วนใหญ่คนที่ไม่สามารถก้าวข้ามไปถึงขั้นเป็นเศรษฐีได้ ล้วนแต่ยอมจำนนกับความเหนื่อยยากและชะตาชีวิตของตนทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ยอมแพ้ สักวันหนึ่งก็ต้องประสบความสำเร็จจนได้ 7. อย่าเป็นหนี้ของเงินกู้นอกระบบ เรื่องนี้ไม่พูดไม่ได้ เพราะเป็นสาเหตุหลักของความยากจนในประเทศไทย เพราะมันจะเป็นสิ่งที่เหยียบคุณ จนไม่มีโอกาสโงหัวขึ้นมาได้ เงินนอกระบบปัจจุบันนี้ดอกเบี้ยร้อยละ 9-10 ต่อเดือน แถมยังหักดอกเบี้ยล่วงหน้า ทราบหรือไม่ว่า นั่นคือดอกเบี้ยทบต้นที่มากกว่า 100% ทุกปี แล้วเราจะดิ้นหลุดจากวงจรของความจนได้อย่างไร จำไว้ว่าถ้ายังไม่พร้อม อย่ากู้เงินมาทำธุรกิจ ถ้าจะทำธุรกิจ ต้องเป็นเงินที่เราสร้างขึ้นมาเองหรือกู้จากเงินในระบบเท่านั้น ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมรังเกียจคนจนและนิยมชมชอบคนรวย แต่ผมเห็นใจคนยากจนและอยากให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากลำบาก ในทางกลับกัน ผมกลับไม่นิยมชมชอบความเป็นเศรษฐีสักเท่าไหร่ เพราะเท่าที่ได้สัมผัสกับเศรษฐี ไม่พบเห็นว่าจะมีใครที่มีความสุขตามนิยามของคนทั่วไปเท่าไร พวกเขามัธยัสถ์สุดๆ ทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว เครียดและเก็บตัว ไม่เข้าสังคม (คงจะกลัวการถูกยืมเงินหรือเรียกให้บริจาค) แต่ดูเหมือนพวกเขายังคงมีความสุขที่ได้เห็นเงินในบัญชีเพิ่มขึ้น โดยไม่สนใจความสุขทางกายเท่าไรนัก ดังนั้น ผมจึงคิดว่า เราต้องทำงานหนัก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีความเป็นอยู่ดีกินดีแล้ว เช่น มีบ้าน มีรถ ไม่มีหนี้แล้ว เราควรใช้เงินหาความสุขให้ครอบครัว มีเวลาให้ครอบครัวและรู้จักแบ่งปันให้สังคมบ้าง ลองคิดดูการที่เขาเป็นเศรษฐีได้ แสดงว่าเขามีเงินท่วมท้น ถ้าเขารู้จักนำเงินไปบริจาคให้มากพอ เขาก็คงไม่ได้เป็นเศรษฐี (แต่เป็นคนรวยน้ำใจที่มีแต่คนยกย่อง ซึ่งคนที่มีความคิดประเสริฐแบบนี้คงมีน้อยมากๆ) มีคนจำนวนหนึ่งชอบพูดว่า คนที่ยากจนส่วนใหญ่เป็นที่สันดาน มีนิสัยเกียจคร้าน โดยเขาเปรียบเทียบว่าหากนำเงินทั้งโลกนี้มารวมกัน แล้วเกลี่ยคืนให้กับคนทุกคน บนพื้นโลกนี้อีกครั้งในจำนวนที่เท่ากัน อีก 20 ปีข้างหน้า อัตราส่วนของคนรวยและคนจน จะกลับมาเหมือนเดิม คือคนส่วนน้อยเป็นเศรษฐี ขณะที่คนส่วนใหญ่กลับมายากจน ผมไม่เถียงว่าจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้ เพราะการทำงานหนัก การมีหัวการค้า มันเป็นนิสัย เป็นแนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังมาที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ปัญหาคือทำไมเราไม่ปลูกฝังเด็กๆทุกคนให้คิดเช่นนี้ล่ะ บทสรุป ผมไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นคนรวย แต่หมายความว่าผมอยากให้ทุกคนมีรายได้ที่ดี อยู่ได้อย่างสบาย มีบ้าน มีรถ ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย แต่ปัญหาของสังคมไทยพบว่าคนจำนวนมากยากจนเพราะขาดความเชื่อ ขาดแรงบันดาลใจ จึงไม่ขวนขวายที่จะดิ้นรน ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ได้ ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ รัฐบาลต้องปฏิวัติวงการศึกษาไทยโดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ว่า ทุกคนสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ขอเพียงแต่เรามีแรงบันดาลใจ เพราะถ้ามีแรงบันดาลใจ พวกเราจะไปหาวิธีการนี้เอง สรุปว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่วิธีคิด ไม่ใช่วิธีการ ผมหวังว่าบทความนี้จะไปสะกิดความรู้สึกของผู้มีอำนาจสักวันหนึ่ง ให้เห็นความสำคัญของการสร้างทัศนคติและแรงบันดาลใจของคนไทยว่า เด็กไทยจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เขามีความเชื่อและรัฐจะช่วยสนับสนุนเขาทุกทางให้มีโอกาสเหมือนคนอื่นๆ สำหรับพวกเรา จากนี้ไป ต้องไม่ยอมจำนนต่อความยากจน และในที่สุด ถ้าเราจะไม่ได้เป็นคนรวยหรือเป็นเศรษฐี ก็ขอให้เป็นเพราะเราเลือกที่จะพอ (เพื่อชีวิตที่สุขสบายขึ้น) แต่ไม่ได้เป็นเพราะเรายอมจำนน !