เกษตรกรต้นแบบของจังหวัดสระบุรี ด้านการบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ใช้บัญชีชี้ทาง "เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีเงินออม” จากการทำเกษตรผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่จนประสบความสำเร็จ แล้วขยายผลต่อยอดให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีกทั้งเยาวชนและบุคคลทั่วไป ให้สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีกินดี สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน นายบุญลือ เต้าแก้ว เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม รองชนะเลิศอันดับ 2 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ วัยกว่า 70 ปี แต่มีใจรักด้านการเกษตร เปิดเผยว่า ทำการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2524 ขณะนั้นทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีเงินเหลือเป็นหนี้มาตลอด จนกระทั่งเมื่อปี 2535 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี จึงได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่นาของตนเอง บนพื้นที่ 20 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนให้เป็นที่อยู่อาศัย อาคารศูนย์เรียนรู้ และพื้นที่ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน อาทิ มีการทำนา สวนผลไม้ พืชผักสวนครัว ประมง การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และเพาะเห็ด เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน จำหน่ายและแบ่งปันในชุมชน ซึ่งเมื่อหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่แทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อการขาดทุน โดยเปลี่ยนมาปลูกพืชหลายชนิด ผักที่เคยซื้อกินก็ไม่ต้องซื้อ และยังมีขายสร้างรายได้เพิ่มให้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในทุกกิจกรรมที่ทำ ได้จดบันทึกลงในสมุดบัญชีต้นทุนอาชีพ แยกแต่ละประเภทอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้ต้นทุนและกำไรจากการประกอบอาชีพตามกิจกรรมต่างๆ จากความสำเร็จดังกล่าว บ้านของนายบุญลือ จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน โดยสร้างฐานเรียนรู้ไว้ 4 ฐาน ประกอบด้วยฐานที่ 1 การลดรายจ่าย คือ การนำเอาของเหลือใช้มาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก นำเศษอาหารมาหมักเป็นปุ๋ยน้ำ ฮอร์โมน ฐานที่ 2 การเพิ่มรายได้ คือ การปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ดฟาง ถั่วงอก ฐานที่ 3 ฐานมีอยู่ คือ ที่อยู่อาศัย นาข้าว การทำโรงเรือนเห็ด และสวนไผ่ และฐานที่ 4 เพิ่มความรู้ คือ การเลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ปลูกพืชสมุนไพรและการทำบัญชี นายบุญลือ เล่าว่า เริ่มบันทึกบัญชีมาตั้งแต่ปี 2521 แต่ก็ยังไม่เป็นระบบมากนัก ต่อมาได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สระบุรี เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ซึ่งได้รับหลักการมาว่า ทุกคน ทุกครัวเรือนต้องทำบัญชี จึงได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีมาปรับใช้ควบคู่กัน ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก เริ่มจากจดในกระดาษเหลือใช้ จนมาจดในสมุด ทำให้รู้รายได้ รู้รายจ่าย รู้ว่าอะไรที่จำเป็น ไม่จำเป็น หลังจากที่ทำกับตัวเองจนเห็นผลสำเร็จ เลยมาเป็นแบบอย่างให้คนในครอบครัวได้ทำตาม ต่อยอดไปถึงคนในชุมชน ด้วยการเป็นครูบัญชีอาสา แบ่งปันความรู้ให้กับชุมชน สอนแนะการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้แก่เกษตรกรและนักเรียนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประจำ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงประจำตำบลหนองโน จังหวัดสระบุรี เพื่อหวังเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้ คนรุ่นหลัง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามแนวทางของความพอเพียง แม้ในช่วงแรกที่เริ่มถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนจะประสบปัญหาบ้าง เพราะการเปลี่ยนใจคนให้ยอมรับสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องยาก แต่ก็มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนสูงอายุ หรือชาวบ้านทั่วไปก็ต่อยอดมาเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นกลุ่มวัยที่กำลังเรียนรู้ แล้วให้เขานำไปถ่ายทอดภายในครอบครัว ทำให้ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ชาวบ้านในชุมชนสนใจที่จะทำบัญชีครัวเรือนกันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่มีส่วนทำให้ครอบครัวและชุมชน สนใจมาลงมือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับการทำบัญชี ซึ่งผู้ที่ได้ทำแล้วจะรู้ว่าสามารถพึ่งตนเองได้จริง และชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องพึ่งสารเคมี สามารถลดต้นทุนได้ทั้งหมด “ประโยชน์ของการทำบัญชีมีมากมาย สามารถนำมาเป็นแนวทางในการพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ถ้าเรารู้จักการทำบัญชีได้ ก็ไม่ต้องกลัวที่จะมีหนี้สิน เพราะตอบโจทย์ได้ว่าเงินที่มีอยู่ เรานำไปใช้ในส่วนไหนบ้าง แล้วเกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์อะไรบ้าง การทำบัญชีจึงมีประโยชน์ต่อเราและครอบครัว สามารถนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเราได้ ทำให้สามารถชำระหนี้สินได้ และมีเงินเก็บได้ไปพร้อมๆ กัน”นายบุญลือ กล่าวทิ้งท้าย