ปกิณกภาพ หัวรอ อยุธยา พ.ศ.2405 จัดเป็นภาพเก่า บันทึกวิถีชีวิตชาวอยุธยาค้าขายทางเรือ บ้านเรือนแพตั้งอยู่ริมแม่น้ำของเกาะเมืองอยุธยา เมื่อ 155 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2405 – 2560) ในภาพ มีเพียงบรรยาย “หัวรอ อยุธยา พ.ศ. 2405 Hua rau. Ayutthaya in 1862 (Credit : MEP Paris) เข้าใจว่าภาพ “หัวรอ” นี้เป็นตลาด ปัจจุบันชื่อนี้ยังคงมีอยู่เรียกกัน ตลาดหัวรอ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำของเกาะเมืองอยุธยา คำว่า “หัวรอ” เท่าที่สืบค้นข้อมูล คือ ทำนบที่สร้างขึ้นสำหรับเบี่ยงเบนกระแสน้ำในแม่น้ำ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทำนบรอ” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีทำนบรออยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง ซึ่งมีลำน้ำสายใหญ่อย่างน้อยๆ 2 สาย ไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำลพบุรี กับแม่น้ำป่าสัก สายหนึ่งไหลวกไปเป็นคลองเมืองทางด้านเหนือ ส่วนอีกสาย ไหลตรงลงมาเมืองคลองเมืองด้านตะวันออก อย่างไรก็ตาม กระแสน้ำมักไหลมาทางตะวันออกมากกว่าทางเหนือ ดังนั้น ทางการจึงต้องสร้างทำนบเพื่อชะลอกระแสน้ำให้ไหลไปทั้ง 2 ทางพร้อมๆ กัน ทำนบดังกล่าว นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องกระแสน้ำแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำอีกด้วย เพราะฉะนั้นบริเวณดังกล่าวจึงกลายเป็น “ตลาด” ขนาดใหญ่ ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคึกคัก เพราะเป็นจุดที่เกวียนบรรทุกสินค้าต่างเมืองสามารถข้ามฝั่งเข้ามายังเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ (องค์ความรู้ฉบับย่อ : ตลาดหัวรอ..ตลาดโบราณ 200 กว่าปี , ภาพหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย” ศูนย์หนังสือจุฬาฯ พิมพ์ ต.ค.2555)