สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “ค้นพบดาวแคระขาวแบบ "ยุบ-ขยายตัว" ในระบบดาวคู่เป็นครั้งแรก! ดวงอาทิตย์ของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการตลอดช่วงอายุ และจะมีจุดจบคือการกลายเป็น “ดาวแคระขาว” ซึ่งเป็นจุดจบแบบเดียวกันกับดาวฤกษ์เกือบ 97 เปอร์เซ็นต์ในกาแล็กซีทางช้างเผือก อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีการค้นพบใหม่ทางดาราศาสตร์ที่อาจเติมเต็มชะตากรรมสุดท้ายของดวงอาทิตย์ได้ งานวิจัยครั้งนี้นำทีมโดย สตีเวน พาร์สันส์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ค้นพบดาวแคระขาวที่มีลักษณะแบบยุบ-ขยายตัวได้ ในระบบดาวคู่ SDSS J1152+0248 มีลักษณะเป็นดาวแคระขาวสองดวงโคจรรอบกัน เบื้องต้นคาดว่าเป็นผลจากการโคจรรอบกันและกันจนส่งผลต่อโครงสร้างภายในของดาวแคระขาว ข้อมูลของการศึกษาครั้งนี้มาจาก HiPERCAM กล้องถ่ายภาพความเร็วสูงที่ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์ “Gran Telescopio Canarias” ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10.4 เมตร สามารถถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงถึง 1,000 ภาพต่อวินาที และถ่ายภาพในช่วงแสง 5 สีที่แตกต่างกัน ด้วยประสิทธิภาพดังกล่าวทำให้สามารถตรวจจับการยุบและขยายตัวอย่างรวดเร็วของดาวแคระขาว ซึ่งการเก็บข้อมูลและการศึกษาส่วนใหญ่ของงานวิจัยนี้สำเร็จได้ด้วยฝีมือของนักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกด้วย ระบบดาวคู่ SDSS J1152+0248 เป็นระบบดาวคู่แบบอุปราคา กล่าวคือ ดาวทั้งสองดวงโคจรบังหน้ากันและกันสลับไปมาเมื่อมองจากโลก และเป็นครั้งแรกที่ค้นพบดาวแคระขาวยุบและขยายตัวในระบบดาวคู่แบบนี้ ทำให้ทีมวิจัยสามารถวัดมวลกับรัศมีของดาวแคระขาว และสามารถระบุองค์ประกอบภายในของดาวได้ สตีเวน พาร์สันส์ กล่าวว่า “เนื่องจากองค์ประกอบของดาวแคระขาวจะซ่อนอยู่ใต้ชั้นไฮโดรเจนที่มองไม่เห็น การระบุองค์ประกอบภายในของดาวแคระขาวจึงทำได้ยากมาก แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถคาดการณ์องค์ประกอบภายในของดาวแคระขาวได้จากขนาดของมัน” ดาวแคระขาว คือใจกลางของดาวฤกษ์ที่เผาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจนหมด และเริ่มหลอมรวมฮีเลียมไปเป็นธาตุที่หนักกว่า ส่วนใหญ่จึงมีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน หรือออกซิเจน แต่ดาวแคระขาวที่ค้นพบในครั้งนี้มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นฮีเลียม และใช้เวลาโคจรรอบกันเพียง 2.5 ชั่วโมง ที่เป็นเช่นนี้คาดการณ์ว่า เกิดจากวิวัฒนาการของดาวฤกษ์หยุดลงเร็วกว่าปกติก่อนที่จะหลอมรวมกับฮีเลียม งานวิจัยครั้งนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สำหรับขั้นตอนต่อไป นักวิจัยวางแผนที่จะศึกษาดาวแคระขาวดวงเดิมโดยใช้กล้อง HiPERCAM ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งจะช่วยให้ศึกษาดาวแคระขาวดวงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และความรู้และความเข้าใจที่ได้รับ จะสามารถนำมาอธิบายถึงวิวัฒนาการและจุดจบของดวงอาทิตย์ต่อไปได้ อ้างอิง [1] https://astronomy.com/…/rare-pulsating-white-dwarf-spotted-… [2] http://www.sci-news.com/…/pulsating-white-dwarf-eclipsing-b… เรียบเรียง : ศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.”