เชิงสารคดี/บูรพา โชติช่วง: องค์ความรู้ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 และในปีถัดไปถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล ความสำคัญของวันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรกในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563 วันฉัตรมงคล ปีแรกของวันที่ระลึกครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย หมายเหตุ: คัดจากองค์ความรู้ “วันฉัตรมงคล” คลังวิชาการ www.finearts.go.th/ กรมศิลปากร และแหล่งอื่น, ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562, เรียบเรียง