ปรากฏการณ์บนฟากฟ้าอันไกลโพ้น ที่เหล่านักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างจับตากับทุกความเคลื่อนไหว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “นักดาราศาสตร์ค้นพบ #การปลดปล่อยพลังงานมหาศาล ออกมาจาก#เควซาร์ ณ ใจกลางกลางกาแล็กซีอันไกลโพ้น ด้วยข้อมูลจากข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แรงดันจากการแผ่รังสีส่งผลให้สสารรอบข้างถูกกวาดออกคล้ายกับถูกซัดด้วย “คลื่นยักษ์สึนามิ” ก็ไม่ปาน #เควซาร์ (Quasar) คือ นิวเคลียสของกาแล็กซีที่มีการปลดปล่อยพลังงานสูง เกิดจากหลุมดำมวลยวดยิ่งที่อยู่ใจกลางดึงดูดมวลสารที่อยู่รอบ ๆ อย่างบ้าคลั่ง จนแผ่รังสีที่มีความสว่างมากกว่ากาแล็กซีทั้งกาแล็กซี และยังส่งผลให้มวลสารบางส่วนถูกเป่าออกไปนอกกาแล็กซีอีกด้วย งานวิจัยครั้งนี้ศึกษาเควซาร์ที่พ่นมวลสารออกจากกาแล็กซีจำนวน 13 เควซาร์ โดยศึกษาอัตราเร็วของแก๊สพลังงานสูงที่พ่นออกมาปะทะเข้ากับสสารในระนาบกาแล็กซีจนเกิดอุณหภูมิสูงนับพันล้านองศาเซลเซียส เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่พามวลสารออกสู่นอกกาแล็กซี นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานมานานหลายทศวรรษว่า มีกระบวนการบางอย่างหยุดการก่อตัวของดาวฤกษ์ในกาแล็กซีขนาดใหญ่ และเมื่อนำกระบวนการพ่นมวลสารนี้มาประกอบกับแบบจำลองวิวัฒนาการของกาแล็กซี แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกับการก่อตัวของดาวฤกษ์และวิวัฒนาการของกาแล็กซี นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังพบว่ามีหนึ่งเควซาร์ที่พ่นมวลสารรุนแรงกว่าเควซาร์อื่น ๆ โดยเพิ่มความเร็วจาก 68.8 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 73.6 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี นับเป็นการพ่นมวลสารที่มีอัตราเร่งสูงสุดเท่าที่เคยค้นพบ และคาดว่ามันจะเพิ่มความเร็วต่อไปอีกเรื่อยๆ การค้นพบครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal เดือนมีนาคม 2563 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลศึกษาเควซาร์ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต ซึ่งช่วยเติมเต็มข้อมูลช่วงระดับพลังงานที่เควซาร์ปลดปล่อยออกมาตั้งแต่พลังงานต่ำไปจนถึงพลังงานสูง และอาจช่วยไขปริศนาของความสัมพันธ์ระหว่างกาแล็กซีและหลุมดำยักษ์ ไปจนถึงวิวัฒนาการของกาแล็กซีได้มากยิ่งขึ้น เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/…/quasar-tsunamis-rip-across-galaxies” (ภาพจาก  https://www.nasa.gov/…/…/quasar-tsunamis-rip-across-galaxies)