ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: สัปดาห์นี้มาทำความรู้จัก “อนันต์ ปาณินท์” ศิลปินแห่งชาติ ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2562 คนล่าสุด จากข้อมูลและภาพประกาศเกียรติคุณศิลปินฯ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประวัติย่อๆ จิตรกร "อนันต์ ปาณินท์" อายุ 82 (เกิด 26 มิ.ย. 2481) ชาวกรุงเทพฯ เรียนโรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ปัจจุบันคือวิทยาลัยช่างศิลป สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปะบัณฑิต (จิตรกรรม) คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ขณะที่อนันต์ศึกษาศิลปะ เขาค้นคว้ากระบวนการและเทคนิคการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมอยู่นั้น ได้เริ่มส่งงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และประสบความสำเร็จ ผลงานศิลปะได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน (จิตรกรรม) ในปีแรกที่ส่ง พ.ศ. 2503 และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง อีกสองครั้งในปีถัดมา พลังใจและปณิธานการเป็นศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเพื่อศิลปะนั้นมั่นคง จึงได้สร้างงานศิลปะต่อเนื่องก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบัน S.W. Hayter Paris ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้รับทุนวิจัยทางศิลปะโครงการระหว่างชาติปฏิบัติงานสร้างสรรค์ศิลปะวิเคราะห์วิจัย แลกเปลี่ยนแนวคิดและปรัชญาเกี่ยวกับคุณค่าและคุณภาพแห่งศิลปะ เป็นเวลา 2 ปี ณ Cite Internationale des Arts, Paris เขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงสร้างสรรค์ศิลปะจิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งมีรูปแบบลักษณะพิเศษเฉพาะตน ตลอดช่วงเวลาหกทศวรรษที่ผ่านไป เริ่มต้นจากมิติมุมมองแบบเหมือนจริงตามธรรมชาติผ่านความรู้สึกความงามความสะเทือนใจในอารมณ์ เริ่มเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบกึ่งนามธรรม ที่สื่อสารจินตนาการผ่านนามธรรม และสรีระรูปทรงของมนุษย์ จากนั้นได้ก้าวข้ามสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปวัตถุสิ่งของเครื่องใช้วิถีวัฒนธรรมไทย ให้เป็นจินตภาพความงามในความรู้สึกอารมณ์อ่อนโยนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ด้วยพลังสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง ผลงานของเขาได้พัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนแต่เรียบง่าย ในมิติแห่งสัจธรรมของธรรมชาติและจิตวิญญาณความศรัทธาของมวลมนุษย์ปรากฏรูปสัญญะจิตรกรรม ด้วยลีลาเทคนิคสีน้ำมันบางเบาปาดป้ายและเช็ดออกให้เกิดสีอ่อนสะอาดในโทนสีที่เร้าอารมณ์สนองความงามจิตรกรรมร่วมสมัยอย่างลึกซึ้ง ละเมียดละไมด้วยสรรพสาระแนวคิดเชิงฝันเชิงปรัชญาส่องสะท้อนรากแก้วศิลปะไทย บทบันทึกของศิลปินตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “งานแสดงจิตรกรรม ไม่ได้เป็นการบรรยายสิ่งที่มองเห็น ไม่ได้บันทึกความทรงจำ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดจินตนาการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ด้วยเหตุผลและภูมิปัญญาของมนุษย์ การเดินทางทำให้เราตัวเล็กลง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพชีวิตทั้งหลาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผืนผ้าที่ถักทอด้วยสายใยแห่งชีวิต...” ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการศึกษาศิลปะ เป็นอาจารย์พิเศษวิทยากร กรรมการตัดสินให้กับสถาบันการศึกษาศิลปะ และเป็นผู้ร่วมจัดทำสารานุกรมไทย เรื่องจิตรกรรมไทยในพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9