พลิกล็อกกันถล่มทะลาย ผิดความคาดหมายกันไปถ้วนหน้า แบบว่า หักปากกาเซียนไปตามๆ กัน สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศอินเดีย เจ้าของฉายานามว่าแดนภารตะ ทั้งนี้ โดยพลันที่ไวรัสโควิด-19 อุบัติขึ้นจากเมืองอู่ฮั่น จีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนลุกลามไปในหลายๆ ประเทศ บนโลกช่วงแรกเริ่ม คือ ราวเดือน ม.ค.ต้นปีนี้ บรรดาผู้สันทัดกรณี ล้วนชี้นิ้วไปที่อินเดีย ด้วยความเป็นห่วงใยยิ่งว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายในอินเดีย อาจลุกลามเป็นไปในวงกว้าง ท่ามกลางความคาดหมายว่า อินเดียจะมีผู้ป่วยจำนวนเรือนแสน เรือนล้าน พร้อมๆ กับมีผู้ป่วยที่อาจล้มตายกันเป็นเบือ เนื่องจากกังวลต่อระบบสาธารณสุข การแพทย์ พยาบาล ในอินเดีย ว่า อาจไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสมรณะในหมู่ประชากรของประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1.3 พันล้านคนได้ ทว่า การณ์กลับตาลปัตร เพราะผลปรากฏว่า ถึง ณ ชั่วโมงนี้ อินเดียมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวนหลักมื่น คือ กว่า 31,332 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวน 1,008 ราย รวมถึงมีผู้ป่วยที่รักษาหายจำนวนสะสมกว่า 7,747 ราย สร้างความฉงนให้แก่วงการสาธารณสุขโลกว่า เหตุไฉน อินเดียแดนภารตะ จึงมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และเสียชีวิตด้วยจำนวนเพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ ประเทศมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีนแผ่นดินใหญ่ คือ 1.35 พันล้านคน ซึ่งตัวเลขข้างต้นก็เป็นรายงานของหน่วยงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุข นานาชาติ อย่างมหาวิทยาลัยจอห์นฮ็อปกินส์ เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่ทางการอินเดีย จะปกปิดตัวเลขแบบผิดความจริงอย่างสิ้นเชิง โดยถึงอาจรายงานผิดพลาด ก็คงไม่มากนัก โดยตัวเลขดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ได้ชื่อ ได้รับการยกย่องว่า มีระบบการแพทย์ สาธารณสุขที่ดี พัฒนาแล้ว ปรากฏว่า กลับสวนทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา เป็นต้น มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกในแทบจะทุกๆ ด้าน แต่ปรากฏว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนสะสมมากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวนสูงกว่า 1.03 ล้านคน ผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึงเกือบ 6 หมื่นคน โดยเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนประชากรแล้ว ปรากฏว่า ทางอินเดียมีอัตราการเสียชีวิต 0.76 ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ สหรัฐฯ กลับมีจำนวนมากกว่า 175 ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ส่งผลให้บรรดาผู้สันทัดกรณีหลายท่าน ย้อนกลับไปดูยุทธศาสตร์ต่างๆ ของอินเดีย ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ แบบเรียกว่า “มหาภารตะยุทธ์ในการต่อสู้กับโควิดฯ” กันเลยก็มี โดยยุทธศาสตร์ที่อินเดีย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ก็มีหลายประการด้วยกัน ไล่ไปตั้งแต่การประกาศชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน กับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายผ่านทางสถานีโทรทัศน์ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ เป็นต้น การจัดเตรียมสถานที่สำหรับใช้เป็นพื้นที่กักกันโรค และรักษาตัวผู้ป่วย อย่างเป็นระเบียบ การสุ่มตรวจผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีรายงานว่า อินเดียตรวจโรคไปแล้วกว่า 625,000 คน มากกว่าเกาหลีใต้ ประเทศที่ได้รับคำชื่นชมในการรับมือกับโควิดฯ เสียอีก ที่ตรวจโรคไปแล้ว 440,000 คน การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดพื้นที่ อย่างทันท่วงที ซี่งมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ ได้วิเคราะห์ข้อมูลของการแพร่ระบาดเชื้อโควิดฯ ตั้งแต่การระบาดยังไม่รุนแรงเลยด้วยซ้ำ ก่อนประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกมา คือ เริ่มเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ตั้งแต่ประเทศ พบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 519 ราย เท่านั้น เปรียบเทียบกับอิตาลี ที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากที่ประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อแล้วมากกว่า 9,200 ราย และกับอังกฤษ ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้วจำนวนมากกว่า 6,700 ราย ซึ่งการประกาศบังคับใช้ที่ล่าช้า ทั้งอิตาลี และอังกฤษ จึงมีสภาพการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงแบบที่เห็น คือ ติด 1 ใน 10 หรือท็อบเทน มาตราบเท่าทุกวันนี้ คือ ที่อิตาลี มีผู้ป่วยมากกว่า 2 แสนคน รั้งอันดับ 3 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.7 หมื่นคน ส่วนที่อังกฤษ มีผู้ป่วยมากกว่า 1.61 แสนคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.1 หมื่นคน พร้อมกันนั้น ในระหว่างใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทางการอินเดีย ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมทิ ประกาศบังคับใช้มาตรการอื่นๆ ออกมากำกับด้วย และเป็นการกำกับอย่างเข้มงวด เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของชื้อไวรัสโควิดฯ สัมฤทธิ์ผล อาทิเช่น การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร มาปฏิบัติหน้าที่กวดขันประชาชนมิให้ฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ได้ พร้อมกับเปิดไฟเขียวให้สามารถการลงโทษได้อย่างจริงจัง ไม่หวั่นแม้กระทั่งกลุ่มที่ไม่พอใจต่อมาตรการล็อกดาวน์ จะรวมตัวกันต่อต้าน ก็จัดการด้วยมาตรการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขา โดยมาตรการล็อกดาวน์ที่ทางการอินเดียบังคับใช้ ก็ได้ประกาศขยายเวลาบังคับใช้ก็อยู่เป็นระยะ โดยล่าสุด ก็ขยายจากวันที่ 14 เม.ย. ออกไปถึง 21 วัน ไปสิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งแนวโน้มท่าทีว่า อาจมีขยายระยะเวลาออกไปอีก โดยยึดสวัสดิภาพของประชาชนให้รอดพ้นจากโควิดฯ ไวรัสร้ายเป็นปัจจัยสำคัญ