ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น: ช่วงหลายปีมานี่มีการส่งเสริมออกแบบผ้าไทยให้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น อย่างโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยภาคีเครือขายด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น เพื่อส่งเสริมนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ให้นำผ้าไทยมาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย ภายใต้คอนเซปต์ “ผ้าไทย ใส่สบาย” ปี 2563 ต้องบอกว่าได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปสายนักออกแบบเครื่องแต่งกายส่งผลงานเข้าร่วมประกวดผ้าไทยใส่สบายจำนวนมาก ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการประกวดเข้ารอบสุดท้าย 15 คน พรีเซนต์ผลงานไปช่วงกลางเดือนเมษายน ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ในที่นี้มารู้จักนักออกแบบรั้วอุดมศึกษา ชวกร ทองประศรี “ฟาอีส” ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กับแนวคิดการสร้างผลงานผ้าไทยใส่สบายชุดนี้ว่า เกิดจากการชื่นชอบผ้าไทยในรูปแบบที่มีความดั่งเดิมเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่พัฒนารูปแบบเสื้อผ้า แต่พัฒนาตั้งแต่การออกแบบลาย การเลือกใช้เส้นใยในการทอผ้า เพื่อให้งานมีความทันสมัยและผิวสัมผัสที่น่าสนใจยิ่งขึ้น แต่ยังคงกระบวนการทำดั่งเดิม จึงเกิดเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานนี้ ส่วนแรงบันดาลใจนั้นเกิดจาก ส.ค.ส.พระราชทาน เนื่องจากได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับสิ่งนี้ มีความสุขในการอ่าน ทำให้รู้ว่าการเขียนส.ค.ส. หรือจดหมายเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเขียน รูปแบบตัวอักษร หรือรูปแบบการตกแต่งจดหมาย จึงเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบคลอเลคชั่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาจาก ส.ค.ส.พระราชทาน ที่ทำให้ผู้เขียนมีความสุขอีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านมีความสุขเช่นกัน ชวกร ภูมิลำเนากรุงเทพ นำแรงบันดาลใจนี้ไปสู่การออกแบบคลอเลคชั่นที่มีเรื่องราวเป็นตัวนำเสนอ โดยการนำเอาเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นมาผสมผสานให้เกิดความทันสมัยและมีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าเป็นการนำครามจากหมู่บ้านคำข่า จังหวัดสกลนคร ย้อมเส้นใยฝ้ายทอผสมกับดิ้นสายรุ้งที่ทำให้ผ้ามีความน่าสนใจและผิวสัมผัสที่ต่างจากเดิม อีกทั้งการผสมผสานระหว่างผ้าทอกับผ้ามัดย้อมที่สามารถนำมารวมอยู่ในคลอเลคชั่นอย่างลงตัว การนำรูปแบบและการตกแต่งที่อยู่ใน ส.ค.ส.พระราชทาน เป็นดีเทลที่เป็นจุดเชื่อมของคลอเลคชั่น การใช้โทนสีที่ให้ความรู้สึกที่มีความสุขโดยใช้สีครามเป็นหลัก และยึดแกนหลักที่ว่าผ้าไทยใส่สบาย ถึงอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่นักออกแบบรุ่นใหม่สะท้อนการที่จะทำให้คนไทยหันมาสนใจผ้าไทยมากขึ้นว่า จะต้องมีการพัฒนารูปแบบของเสื้อผ้าให้มีความทันสมัยและสามารถใส่ได้จริง ซึ่งคนไทยในปัจจุบันยังไม่กล้าที่จะสวมใส่ผ้าไทย เพราะยังคงซึมซับกับการแต่งตัวที่ได้จากต่างชาติ แต่ถึงอย่างไรอยากให้ทุกคนภูมิใจได้รู้ว่า ผ้าไทยนี่แหละคือสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็ทำให้ทุกคนรอบๆ ตัวเราเอ่ยปากชม การสวมใส่ผ้าไทยเราอาจจะไม่ต้องใส่ทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง แต่เราอาจจะสวมใส่แค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ชวกร ทองประศรี มองการพัฒนาตลาดผ้าไทยสู่สากลว่า “ก่อนอื่นเราต้องมีรูปแบบลายผ้าที่ดูแตกต่างจากเดิม แต่ยังคงวิธีการทำแบบดั่งเดิม ทุกๆ ผืนผ้าที่สร้างสรรค์ออกมาจะต้องตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และการออกแบบผืนผ้ายังคงต้องอ้างอิงจากเทรนแฟชั่นประจำปี ไม่ว่าจะเป็นสีหรือรูปแบบ” และกล่าวโครงการฯ ผ้าไทยใส่สบายว่า เป็นการเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ผ้าไทยให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ร่วมสมัยมากขึ้น