ต่ำสิบ4วันรวด "ศบค."พบไทยติดเชื้อโควิด-19เพิ่ม 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ด้าน "ลุงแซม"งัดข้อ"ฮู"ส่งหมอใหญ่ยัน "ยาเรมเดซิเวียร์" ได้ผลจริง ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสมรณะยังลุกลามไม่หยุด ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงว่า ยอดผู้ติดเชื้อขณะนี้ มีจำนวน2,954 ราย ใน 68 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดเสียชีวิตคงที่ 54 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 รายได้แก่ การค้นหาเชิงรุก (Active Case Finding) ในชุมชน (ภูเก็ต 3ราย กระบี่ 1ราย) 4ราย และกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantines (กทม.:มาเลเซีย) 3 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแบ่งตามพื้นที่ ดังนี้ กรุงเทพฯ และนนทบุรี 1,657 ราย / ภาคเหนือ 94 ราย / ภาคกลาง 375 ราย / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย / ภาคใต้ 678 ราย ผู้ป่วยสะสมใน 68 จังหวัด จำนวน 2,954 ราย ซึ่งกรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดที่ 1,488 ราย มี State quarantines 12 ราย ภูเก็ต 216 ราย นนทบุรี 157 ราย สมุทรปราการ 113 ราย ยะลา 113 ราย มี State quarantines 8 ราย ชลบุรี 87 ราย มี State quarantines 4 ราย ปัตตานี 79 ราย มี State quarantines 12 ราย สงขลา 44 ราย มี State quarantines 61 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 39 ราย นราธิวาส นครปฐม อยู่ระหว่างการสอบสวน 39 ราย ขณะที่อัตราการป่วยโรคโควิด ต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับการรักษา พบว่า ภูเก็ต กลายเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดที่ 52.25 ต่อประชากรแสนคน ตามด้วย กทม. 26.24 ยะลา 21.15 ปัตตานี 10.95 นนทบุรี 12.50 สมุทรปราการ 8.46 สงขลา ชลบุรี นราธิวาส ทั้งนี้มี 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วย ดังนี้ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บรรดานักวิเคราะห์ แสดงความวิตกกังวลต่อกรณีที่หลายประเทศ จะมีช่วงเทศกาลหยุดงานเป็นเวลาหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ ไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า อาจส่งผลทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ เกิดการแพร่ระบาดหนักขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินทาง พบปะระหว่างกันของผู้คนในช่วงเทศกาลหยุดงานที่มีจำนวนหลายวันข้างต้น รายงานข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกคำเตือนไปยังประชาชนถึงการปฏิบัติตัวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่กำลังมีขึ้นว่า ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น ขณะเดียวกัน ทางด้าน ดร.แอนโทนี เฟาซี ผอ.สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ในสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นไอเอช เปิดเผยที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถึงผลการทดลองการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในสหรัฐฯ พบว่า ยาเรมเดซิเวียร์ให้ผลเบื้องต้นที่มีความสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยโรคโควิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น โดย ดร.เฟาซี ยังเปิดเผยอีกว่า ทางเอ็นไอเอชได้ทดลองทางคลินิกแก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฯ ด้วยการให้ยาจริงกับให้ยาหลอก ผลปรากฏออกมาว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาจริง มีอาการฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก คิดเป็นร้อยละ 31 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญอย่างมาก รายงานข่าวแจ้งว่า การออกมาเปิดเผยผลการทดลองข้างต้นมีขึ้น ภายหลังจากองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ยาเรมเดซิเวียร์ไม่ได้มีผลต่อการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฯ ซึ่งเป็นการระบุหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ทดลองยาชนิดนี้กับกลุ่มลิงทดลอง จนได้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจเมื่อช่วงก่อนหน้า ขณะที่ สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั่วโลก ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นจำนวน 3,220,969 ราย ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 228,251ราย และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายมีจำนวนสะสม 1,001,933 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,064,572 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 61,669 ราย