ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ช่วงนี้มีการกล่าวอ้างถึงสิงคโปร์กันบ่อยครั้ง แต่เป็นการกล่าวอ้างเพื่อสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงของการกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยโควิด-19 ซึ่งพบคนติดเชื้อจากหลักพันกระโดดเป็นหลักหมื่น และก็มีการด่วนสรุปกันว่าสาเหตุเป็นเพราะสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ควบคุมโรคได้ดี จนจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีลีเซียนหลุง จึงมีคำสั่งให้ผ่อนคลายด้วยการยกเลิกการปิดเมือง แต่พอเปิดเมืองให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ก็ปรากฏว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งกระฉูดขึ้นมา ทางการไทยจึงได้ยกเอากรณีการเปิดเมืองของสิงคโปร์มาเป็นตัวอย่าง ประกอบเพื่อจะควบคุมกิจกรรมอย่างเข้มงวดในไทยต่อไป แต่ถ้าศึกษาในรายละเอียดของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการแพร่ระบาดของสิงคโปร์ จะพบว่าตัวเลขที่พุ่งสูงนั้นเป็นผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติ หรือผู้อพยพเข้าเมือง ที่เข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ทดแทนแรงงานพื้นเมืองที่มีค่าแรงสูงขึ้นมาก คนเหล่านี้อาศัยอยู่ตามหอพักราคาถูก ซึ่งแออัดมาก จึงเป็นธรรมดาที่จะติดเชื้อกันง่ายและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คำถามคือแล้วทำไมถึงพึ่งมาค้นพบ คำตอบคือ ในตอนต้นๆรัฐบาลสิงคโปร์ ให้ความสนใจแต่กับพลเมืองของตน โดยเฉพาะคนที่มีระดับรายได้ปานกลางและระดับสูง จึงมีการติดตามตรวจสอบและบำบัดอย่างใกล้ชิดประกอบกับการปิดเมือง ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมจากหลายประเทศ และนี่ก็อาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศไทยปิดเมืองด้วยก็ได้ ต่อมาสิงคโปร์เห็นว่าได้ควบคุมโรคได้พอควรแล้ว จำเป็นที่จะต้องเปิดเมืองเพื่อให้เกิดการผ่อนคลายแก่ประชาชน ไม่ให้เครียดจนเกินไปและเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศได้เริ่มก้าวต่อไป หลังจากหยุดชะงักจนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศที่เน้นอัตราการเติบโตเป็นหลัก และประสบความสำคัญด้วยดีมาตลอด จนเป็นที่ยกย่องจากนานาประเทศ ว่าสมควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แต่พอเปิดเมืองก็ค้นพบว่าการแพร่ระบาดได้กลับพุ่งกลับมาอีกอย่างรุนแรง และมีการกล่าวอ้างว่ามันเป็นผลมาจากการเปิดเมือง เป็นอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งในความเป็นจริงมันกลับเป็นการค้นพบปัญหาที่ซุกใต้พรมต่างหาก กล่าวคือ มีการตรวจสอบกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล จึงไม่ได้รับการดูแลตรวจสอบเท่าที่ควร นั่นคือคนอพยพเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่มีราคาแพงมากในประเทศนี้ สถิติผู้ติดเชื้อจึงพุ่งขึ้นเป็นหลักหมื่น ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เริ่มลดลงดังกล่าว ประเทศไทยเราก็เกิดกรณีคล้ายกัน นั่นคืออยู่ๆตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 19 ราย กลับพุ่งขึ้นมาเป็น 53 ราย สาเหตุมาจากการไปตรวจสอบสถานควบคุมตัวแรงงานที่เข้าเมือง โดยผิดกฎหมายที่สงขลา มันจึงกลายเป็นสาเหตุที่จะเป็นข้ออ้างที่ต้องขยายการปิดเมือง และประกาศขยายภาวะฉุกเฉินต่อไป อีก 1 เดือน โดยมีการผ่อนปรนบ้างเป็น 4 ระดับๆละ 14 วัน อย่างไรก็ตามหากต้องการตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ลงไปตรวจที่สถานกักกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ของกองบัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ที่ซอยสวนพลูดูจะพบอีกมาก เพราะผู้ถูกคุมขังนั้นอยู่กันอย่างแออัดเกินความจุนับสิบเท่า ขนาดหลายคนต้องไปนอนในห้องส้วมเพราะไม่มีพื้นที่พอ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของตม. เพราะเขาได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาแค่นั้น นอกจากนี้ UNHCR ก็ได้ท้วงติงไปหลายรอบแล้ว บทเรียนจากสิงคโปร์ไม่ใช่แค่เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด แต่เป็นปัญหาสภาพเศรษฐกิจและสังคมในสิงคโปร์ที่เคยได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นเหนือล้ำหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งก็มีอัตราเติบโตที่ดีหลายประเทศ หากไปพิจารณาถึงการกระจายรายได้ของสิงคโปร์จะพบว่า มีความแตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น พนักงานที่มีหน้าที่ในการผลิต มีรายได้ต่ำกว่าผู้บริหารระดับต้น ประมาณ 3-5 เท่า กระนั้นก็ตามค่าแรงสิงคโปร์ก็อยู่ในระดับสูง จนต้องรับเอาแรงงานและพนักงานเข้ามาจากต่างประเทศ และต้องพึ่งพาแรงงานเหล่านี้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้อย่างศรีลังกา เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สืบเนื่องจากสงครามการค้ามาจนเจอกับการระบาดของโควิด-19 สิงคโปร์ที่พึ่งพาการส่งออก การบริการ และเป็นศูนย์กลางทางการเงินก็ต้องเผชิญกับปัญหาหนัก ขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางซื้อ-ขายน้ำมัน ของสิงคโปร์ก็มีอันล้มละลายลงไปเพราะความผันผวนของราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างแรง ปัญหาการจ้างงานของชาวสิงคโปร์ นอกจากจะเผชิญกับการแข่งขันของแรงงานอพยพแล้ว ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญหาประดิษฐ์ และเครื่องจักอัตโนมัติ ทำให้คนวัย 50 ขึ้นไปต้องตกงาน และไม่ได้รับบำนาญจากกองทุนสวัสดิการจนกว่าจะอายุ 60 ปี นอกจากนี้สิงคโปร์ก็กำลังเผชิญกับปัญหาสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงมาก พื้นที่อยู่อาศัยก็หาลำบากและราคาแพง กล่าวถึงเรื่องที่อยู่อาศัยสิงคโปร์มีพื้นที่จำกัด รัฐบาลจึงเข้าถือครองที่ดินกว่า 90% โดยบางส่วนซื้อจากเอกชน และมาจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐให้ประชาชนเช่าอยู่ ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายเพื่อระดมทุนไปร่วมในกองทุน SWF เทมาเซก จึงให้เอกชนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเหล่านี้ โดยใช้เงินสวัสดิการของตนเองค้ำประกัน ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะคาดกันว่าราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นคอนโดที่มีอายุมาก ดังนั้นจึงปรากฏว่าราคากลับตกลง ทำให้หลักทรัพย์ของประชาชนลดลง และคงต้องลำบากตอนเกษียณ ชีวิตของชาวสิงคโปร์ที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่แพงหูฉี่ และความเข้มงวดของรัฐบาล โดยเฉพาะตอนปิดเมืองยิ่งไปกันใหญ่ บ้านก็แคบจะออกไปไหนก็ลำบาก แม้รัฐบาลจะจ่ายเงินเพื่อพยุงไม่ให้มีการเลิกจ้างงานก็ตาม เรื่องนี้นายกฯสิงคโปร์เข้าใจดี จึงประกาศว่าจะปิดครั้งนี้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น เพราะกลัวอารมณ์คนสิงคโปร์จะระเบิด แม้รัฐบาลจะคุมอย่างเข้มงวดก็ตาม คนมันเครียดอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในเรื่องการเมืองนั้นสิงคโปร์แม้มองดูเพียงรูปแบบ ก็ต้องบอกว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะมีเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร แต่ความเป็นจริงสิงคโปร์เป็นเผด็จการ โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาตลอด ตั้งแต่นายลีกวนยู เป็นต้นมา เป็นเวลาหลายทศวรรษ พรรคที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ พรรค People’s Action Party (PAP) อย่างไรก็ตามเมื่อภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป การมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก และกำลังมีปัญหาในขณะที่ช่องว่างทางเศรษฐกิจห่างกันออกไปทุกที คนรุ่นใหม่เริ่มมีความเห็นที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่สะสมหมักหมมมานาน ฝ่ายค้านที่ถูกรัฐบาลใช้กฎหมายเล่นงาน กดดัน จับขังคุกเพื่อให้ไม่สามารถแข่งขันกับรัฐบาลได้ ซึ่งทำมาโดยตลอด ทำให้ผู้รักความเป็นธรรมหลายคน เริ่มต่อต้าน และมีสมาชิกระดับบริหารของพรรค PAP บางคนแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ แม้การเลือกตั้งครั้งหลังสุดพรรครัฐบาล PAP จะได้ที่นั่ง 93% ของสภา แต่ถ้าดูคะแนนเสียงของประชาชนทั้งหมดพบว่าได้รับคะแนนเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 66% นี่ก็ใกล้เลือกตั้งครั้งใหม่ แม้จะค่อนข้างชัดเจนว่าพรรครัฐบาลคงได้เสียงข้างมาก แต่พรรคฝ่ายค้านน่าจะได้ที่นั่งมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะเป็นสัญญาณว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสิงคโปร์ หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป เพราะสิงคโปร์มีรูระบายแรงกดดันเป็นระยะๆ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำ ประเทศไทยด้วยความร่วมมืออย่างดีของประชาชน และความสามารถของทีมงาน บุคลากรทางการแพทย์ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงต่ำกว่าสิบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ฝ่ายบริหารมองว่ายังมีความจำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน เพื่อสู้และควบคุมโควิด แต่ความฉุกเฉินเฉพาะหน้ากลับเป็นการเยียวยาประชาชนผู้เดือดร้อนอดอยาก ยากไร้ให้รวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลยังทำได้ไม่ดีนัก แม้มีอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตาม